ทูตพาณิชย์ ย่างกุ้ง กาง 3 แฟคเตอร์ ความท้าทายธุรกิจไทยในเมียนมา

30 เม.ย. 2567 | 07:15 น.
607

ทูตพาณิชย์ ย่างกุ้ง กาง 3 แฟคเตอร์ ท้าทายธุรกิจไทยในเมียนมา ความเชื่อมั่น-จำกัดการนำเข้า-กฎระเบียบการค้า ล็อบบี้ ทางการเมียนมา ปลดล็อก อัตราแลกเปลี่ยน – Import license

KEY

POINTS

  • ทูตพาณิชย์ ย่างกุ้ง กาง 3 แฟคเตอร์ ความท้าทายธุรกิจไทยในเมียนมา 
  • ความเชื่อมั่น-จำกัดการนำเข้า-กฎระเบียบการค้า
  • เดินสาย ปลดล็อก อัตราแลกเปลี่ยน – Import license - FDA ด่านสำรองแหลมฉบัง-ท่าเรือย่างกุ้ง 

ธุรกิจไทยเดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง หลังจากประสบกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และการเมืองภายในของประเทศเมียนมา ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ปะทะบริเวณชายแดนเมียวดี-แม่สอด   

สภาธุรกิจไทย-เมียนมา นำโดย “กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์” ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา พาคณะผู้ประกอบการไทยกว่า 30 ชีวิต ลงพื้นที่จริง-สำรวจสถานการณ์จริงให้เห็นกับตา ได้ยินกับหู 

โดยมี “เอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา” อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงย่างกุ้ง บรีพสถานการณ์ พร้อมกับฉายภาพ 3 ปัจจัยที่เป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ปักหมุดอยู่แล้วหรือคิดที่จะปักหมุด เอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา” อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงย่างกุ้ง บรรยายพิเศษโอกาส-ความท้าทายให้แก่คณะผู้ประกอบการไทยกว่า 30 ชีวิต

ปรับกลยุทธ์ ตุนกระสุน ก๊อกสอง-ก๊อกสี่  

เศรษฐกิจเมียนมายังไม่หดตัว ยังไปได้ ยังเติบโต มีศักยภาพ แม้ในยามท้าทาย เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะปักหมุดในวันข้างหน้า แต่อาจต้องเตรียมกระสุน ก๊อกสอง ก๊อกสาม ก๊อกสี่ 

การส่งออก สถานการณ์ยากลำบาก ไม่ง่าย ต้องปรับกลยุทธ์ นอกจากการส่งออกมาขายในเมียนมา อาจจะต้องปรับมาลงทุนผลิตในเมียนมา หรือการนำเข้าสินค้า 

เศรษฐกิจการค้าไทยส่งออกมาเมียนมา 2-3 แสนล้านบาทต่อปี ส่งออกมากกว่านำเข้า เกินดุลหลายหมื่นล้านต่อปี ปี 2566 ไทยเกินดุลการค้าเมียนมา 4.67 หมื่นล้านบาท 

ร้านอาหารในกรุงย่างกุ้งยังเต็มไปด้วยลูกค้าและนักท่องเที่ยวเข้ามาอุดหนุนเนืองแน่น

“สินค้าส่งออกหลักของไทยไปเมียนมา 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องอุปโภคบริโภค ปัจจัยการผลิตสินค้าทุน เพียงแต่ไม่ได้มีความราบรื่นเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากเมียนมาจำกัดการนำเข้า แปลว่าสินค้าบางรายการผลิตเองได้ เป็นสินค้าไม่จำเป็น เป็นความท้าทาย”

3 แฟคเตอร์ความท้าทาย 

ปัจจัยแรก สถานการณ์ (Situation) กระทบความเชื่อมั่นและกระทบกับระบบโลจิสติกส์ บางพื้นที่ 

“ต้องประเมินข้อมูล ความจริงคืออะไร ความเห็นคืออะไร ต้องแยกระหว่างความจริงกับความเห็น มาดูด้วยตา มาสัมผัสกับตัว มาฟังคนที่อยู่ในเมียนมา ตามความเป็นจริง” 

ปัจจัยที่สอง เศรษฐกิจ (Economic) จำกัดการนำเข้า นำเข้าเท่าที่จำเป็น เช่น ยา น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต (ปัจจัยทุน) สินค้าผลิตต่อ  

“นโยบายที่จะตามมา เมื่อเมียนมาลดการขาดดุลการค้า เพิ่มการส่งออก เพิ่มการผลิตในประเทศ ควบคุมการนำเข้าที่จำเป็น ต้องเข้ามาอยู่ในกติกาของเมียนมา”

การจราจรในย่างกุ้งยังคงเต็มไปด้วยความคับคั่งและผู้คนสัญจรไปมา

ปัจจัยที่สาม กฎระเบียบการค้า (Regulation) ได้แก่ ใบอนุญาตนำเข้า (Import license) รวมถึงอาหารและยา (MFDA) สภาพคล่องเงินต่างประเทศ

อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งขาส่งออกและขานำเข้า ล่าสุด 65/35 หมายถึง ส่งออก 100 % แลกเรตตลาด ( 1 เหรียญยูเอส ราคาตลาดเท่ากับ 3,700 – 3,800 จ๊าด) ได้ 65 %  อีก 35 % ต้องไปแลกเรตทางการ (เรตราคาทางการ 1 เหรียญฯ เท่ากับ 2,100 จ๊าด) 

“เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นกระดุมเม็ดแรก กระทบขานำเข้า เพราะทำให้เงินต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดพอสมควร รวมถึง import license เราจึงพยายามจะแก้ ทั้งไปพบแบงก์ชาติของเมียนมา (CBM) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการลงทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเงิน เพื่อขอผ่อนคลายเป็น step by step ตามสถานการณ์”

กฎระเบียบอื่น เช่น กฎหมายเกณฑ์ทหารกระทบความมั่นใจ แรงงาน แต่ในความเป็นจริงสถานการณ์ไม่ถึงขั้นนั้น สุดท้ายจะคลี่คลาย เหมือนสถานการณ์บริเวณเมียวดี-แม่สอด เพราะสถานการณ์ดีขึ้น 

“สถานการณ์แบบนี้ คู่แข่งน้อยลง มาในยามนี้ ไม่ใช่ red ocean แต่ถ้ามาช่วง open economy แล้ว ตลาดอาจจะแดง แล้วคนอาจจะมาเยอะ แต่ต้องมีจุดขาย มีจุดแข็ง เป็นโอกาสสำหรับคนที่ต้องการจะปักหมุด”

ท่าเรือติลาวา ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ย่างกุ้ง ยังคงให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ

แหลมฉบัง-ท่าเรือย่างกุ้ง เส้นทางสำรอง

อีกปัจจัยที่เป็น “ข้อจำกัด” ในการขับเคลื่อนธุรกิจ คือ ระบบโลจิสติกส์ เมื่อด่านเมียวดี-แม่สอดไม่สะดวกการขนส่งสินค้าเพื่อดำเนินกิจกรรมค้าขาย แล้ว “ประตูการค้า” ใดที่พอจะเป็น “ทางเลือก” ที่ดีที่สุด 

“ตามแนวชายแดนมีหลายประตู หนึ่ง ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก สอง กาญจนบุรี ด่านพุน้ำร้อน-ทิกิ ประตูสากล คือ ออกแหลมฉบังไปท่าเรือย่างกุ้ง มีข้อได้เปรียบ คือ เป็นตู้คอนเทรนเนอร์ แต่อ้อม นานหน่อย 2 อาทิตย์ แต่ชัวร์”

ปัจจุบัน จุดผ่านแดนบริเวณไทย-เมียนมา ประกอบด้วย จุดผ่านแดนถาวร 5 แห่ง จุดผ่อนปรณ 14 แห่ง จุดผ่านแดนชั่วคราว 1 แห่ง 

“สถานการณ์เมียนมาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องเดินไปข้างหน้า การค้าต้องดำเนินต่อไป ความมั่นคงเราคุมไม่ได้ เราต้องติดตามและปรับตัว”

“หัวใจ คือ เราต้องมีประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศ ประโยชน์ต่อประเทศ ประโยชน์ต่อธุรกิจและประโยชน์ต่อประชาชนดีที่สุด ถ้าตีโจทย์ว่าสินค้ามีประโยชน์กับประเทศเมียนมาและธุรกิจที่เป็นพาร์ทเนอร์อย่างไร กับผู้บริโภคอย่างไรจะยั่งยืน”

ไม่ใช่ RED Area 100 %

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงบางพื้นที่ ผู้คนยังใช้ชีวิตปกติ ไม่ใช่ red area 100 % บางจุด ชายแดน และบางช่วงที่มีการปะทะกัน”

เจดีย์ชเวดากอง จุดเช็กอินของนักท่องเที่ยวไทยและประชาชนเมียนมาอย่างไม่ขาดสาย

“ไม่ว่าสถานการณ์อะไรจะเกิดขึ้น โอกาสและดีมานด์ธุรกิจมีทุกสถานการณ์ ไทยกับเมียนมามีพื้นที่ชายแดนติดกันมาหลายร้อยล้านปี ดี ดีด้วย ไม่ดี ไม่ดีไปด้วย เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ”  

“ในโลกนี้มีประเทศเดียวคือเมียนมาที่ติดกับประเทศที่มีคนมากที่สุดในโลก คือ จีนกับอินเดีย เป็นฐานการผลิตส่งออกทั่วโลก ”

เมียนมาไม่ได้อยู่เฉพาะอาเซียน แต่ยังมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 15 ประเทศ (RCEP) รอเพียงวันสปริงบอร์ด

"ทุกความท้าทายมีโอกาสเสมอ เข้าใจ ปรับตัว หาทางเลือก ต้องใจสู้ ดีขึ้นเมื่อไหร่ sooner all someday อย่างไรก็ better แน่ ต้องมีสักวัน"ทูตพาณิชย์ประจำกรุงย่างกุ้งทิ้งท้าย