เปิดงบ Voice TV แบกหนี้ 900 ล้าน เคยรับงานรัฐกว่า 99 ล้านบาท

27 เม.ย. 2567 | 07:43 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2567 | 07:57 น.

Voice TV ประกาศปิดฉาก ขาดทุนต่อเนื่อง แบกหนี้กว่า 909 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์เพียง 214 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเคยรับงานจากภาครัฐมูลค่ารวม 99 ล้านบาท

วอยซ์ ทีวี (Voice TV) ประกาศอำลาผู้ชม ผ่านการโพสต์ผ่านเพจ Voice TV เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567

นับเป็นการปิดฉาก 15 ปี โดยในประกาศดังกล่าวระบุว่า ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ประเมินกิจการและภาวะวิกฤตในอุตสาหกรรมอย่างรอบด้านแล้ว มีความเห็นสรุปปิดกิจการ 

เนื่องจากกลไกตลาด เทคโนโลยีแพลตฟอร์มมีผู้ผลิตมากมายและหลากหลาย ที่สามารถสานต่อภาระกิจสังคมต่างๆ ได้ ขณะที่ประชาธิปไตยกำลังลงหลักเพื่อเริ่มต้นต่อไปได้ จากนี้ทางบริษัทจะมีการจ่ายชดเชยให้พนักงานทุกคนตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม โดยเราจะทยอยหยุดออกอากาศทั้งบนทีวีและออนไลน์ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ประกาศอำลา วอยซ์ ทีวี (Voice TV)

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลการดำเนินธุรกิจของ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ผ่านระบบบริการวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทครบวงจร Creden Data จากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบขาดทุนต่อเนื่อง แบกหนี้กว่า 900 ล้านบาท และเคยรับงานจากภาครัฐ 3 สัญญา รวมมูลค่ากว่า 99 ล้านบาท โดนมีรายละเอียดดังนี้

บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตรายการเพื่อออกอากาศทั่วไป เปลี่ยนชื่อมาจาก บริษัท ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2546 ด้วยทุนจดทะเบียน  5,000,000 บาท และมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท วอยซ์ สเตชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2551 และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 150 ล้านบาท จากนั้นวันที่19 มิ.ย. 2552 จึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท  วอยซ์ ทีวี จำกัด

บริษัท  วอยซ์ ทีวี จำกัด เคยเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นไปสูงสุดที่  2,310 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2557 ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนลงมาสุดท้ายที่  577.5 ล้านบาท ในวันที่ 10 ต.ค. 2566

รายชื่อกรรมการ ประกอบด้วย นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ,นายเฉลิม แผลงศร และนางจตุพร กู้ตลาด โดยนายประทีป คงสิบ ได้ออกจากการเป็นกรรมการเมื่อปี  ปี 2564 และเมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้น พบชื่อ บรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 230,999,998 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน100 % และนายเฉลิม แผลงศร จำนวน 2 หุ้น

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Noppakow Kongsuwan

สำหรับงบการเงินนำส่งปีล่าสุด 2565

พบว่า บริษัท  วอยซ์ ทีวี จำกัด มีสินทรัพย์รวม 214,707,744 บาท หนี้สินรวม 909,803,858 บาท รายได้รวม 97,584,918 บาท รายจ่ายรวม 195,401,137 บาท ขาดทุนสุทธิ 106,353,986 บาท

เมื่อพิจารณาผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี พบว่า บริษัท  วอยซ์ ทีวี จำกัด ขาดทุนต่อเนื่องทุกปี ดังนี้

  • ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 352,030,096 บาท
  • ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 157,686,104 บาท
  • ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 110,360,808 บาท
  • ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 92,809,646 บาท

เมื่อตรวจสอบข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) พบว่า บริษัท  วอยซ์ ทีวี จำกัด ได้เคยเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ จำนวน 3 สัญญา มูลค่าโครงการรวม 99,681,900 บาท มีรายละเอียดสัญญา ดังนี้

1. โครงการจ้างดำเนินการประชาสัมพันธ์กิจกรรมงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2558 ทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี โดยวิธีตกลงราคา กรมประชาสัมพันธ์ เลขที่สัญญา 128/2558 มูลค่าตามสัญญา 53,500 บาท 

2. โครงการจ้างสื่อโทรทัศน์ เพื่อรณรงค์ประเด็นสุขภาวะ ประจำปี 2561 โดยวิธีคัดเลือก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เลขที่สัญญา 61-00791 มูลค่าตามสัญญา 99,500,000 บาท 

3. โครงการจ้างผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของการไฟฟ้านครหลวง ประจำปี 2561 ในรายการข่าวสถานีโทรทัศน์ Voice TV โดยวิธีเฉพาะเจาะจง การไฟฟ้านครหลวง เลขที่สัญญา 130248364 มูลค่าตามสัญญา 128,400 บาท 

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Noppakow Kongsuwan

ทั้งนี้ ช่องวอยซ์ ทีวี (Voice TV) ได้ดำเนินธุรกิจทีวี นำเสนอข่าวสารในรูปแบบทันสมัย และมุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางการเมือง โดยได้มีช่วงเวลาของรายการCARE TALK ซึ่งจะมีการร่วมสนทนากับ นายทักษิณ ชินวัตร อยู่เสมอ และมักใช้ชื่อนายทักษิณว่า Tony Woodsome ซึ่งในขณะนั้นนายทักษิณยังถือเป็นผู้หลบหนีอยู่ต่างประเทศ 

รายการ CARE talk สัมภาาณ์ นายทักษิณ ชินวัตร

วอยซ์ ทีวี (Voice TV) ได้ร่วมประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล แต่ต่อมาได้คืนใบอนุญาตไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 โดยยังคงดำเนินกิจการต่อมา โดยนำเสนอผ่านระบบดาวเทียม และสื่อออนไลน์ต่างๆ จนกระทั่งได้ประกาศปิดกิจการ โดยต้องมีการเลิกจ้างพนักงานกว่า 100 คน