เปิดสถิติสินค้าส่งออกไทยขายดี 31 มณฑลจีน

26 เม.ย. 2567 | 10:33 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2567 | 10:43 น.

รองนายกฯ “ภูมิธรรม” สั่งพาณิชย์ วิเคราะห์สินค้าส่งออกศักยภาพไปจีนใน 31 มณฑล เพื่อชี้ช่องทางให้ภาคธุรกิจไทย หาโอกาสรุกตลาดจีน ล่าสุดส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละมณฑลเฉลี่ย 2.05% มีมูลค่าที่จีนนำเข้าสินค้าจากไทยเฉลี่ยมณฑลละ 51,072 ล้านดอลลาร์

วันที่ 26 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ศึกษาข้อมูลการส่งออกสินค้าไปยังแต่ละมณฑลของจีน เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย เจาะเป้าหมายเมืองรองของจีน ที่ขนาดเศรษฐกิจระดับมณฑลของจีนหลายแห่งยังใหญ่กว่าไทยมาก ในปี 2567 รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมาย การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละมณฑลไม่ต่ำกว่า 5%

ซึ่งในช่วงต้นปี 2567 เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีทั้งภาคการลงทุน การบริโภค และการส่งออก ตอกย้ำถึงความยืดหยุ่นและแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หากไทยสามารถเข้าถึงตลาดในระดับมณฑลที่มีความหลากหลายในเชิงวิถีชีวิต วัฒนธรรม การอุปโภคบริโภค และรูปแบบการค้ากับต่างประเทศได้อย่างเหมาะสม ก็จะเป็นโอกาสขยายการส่งออกสินค้าของไทยได้เพิ่มขึ้น

ซึ่งแต่ละมณฑลของจีนใน 31 มณฑล พบว่าไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละมณฑลเฉลี่ย 2.05% ด้วยมูลค่าที่จีนนำเข้าสินค้าจากไทยเฉลี่ยมณฑลละ 51,072 ล้านดอลลาร์ โดยมณฑลที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่

  • เขตปกครองตนเองทิเบต
  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
  • มณฑลยูนนาน

อีกทั้งยังวิเคราะห์สินค้าส่งออกศักยภาพของไทยในจีนรายมณฑล โดยพิจารณาจากสัดส่วนการนำเข้าสินค้าของไทยในแต่ละ 31 มณฑล/เขตการปกครอง ในปี 2566 โดยเปรียบเทียบกับสัดส่วนการนำเข้าสินค้าของมณฑลนั้น ๆ กับประเทศอื่นทั่วโลก ซึ่งใช้หลักการเดียวกับดัชนีความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบ และใช้รายการสินค้าตามพิกัดศุลกากร 4 หลัก จากการศึกษาพบว่า ไทยมีสินค้าศักยภาพหลายรายการที่ส่งออกไปยังแต่ละมณฑลของจีน โดยเฉลี่ยมีสัดส่วนสินค้าศักยภาพมากกว่ากึ่งหนึ่งของรายการสินค้าที่มีการนำเข้าจากไทย สัดส่วนอยู่ที่ 53.9%

เปิดสถิติสินค้าส่งออกไทยขายดี 31 มณฑลจีน

เมื่อพิจารณาสัดส่วนสินค้าศักยภาพของแต่ละมณฑล ร่วมกับระดับการทำการค้ากับไทยและกับโลก รวมถึงขนาดเศรษฐกิจรายมณฑล พบว่ามีมณฑลที่น่าสนใจที่กระทรวงพาณิชย์ควรมุ่งเน้นส่งเสริม รวมถึงมณฑลที่มีการส่งเสริมอยู่แล้วในปัจจุบัน

แต่สามารถพัฒนาการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผ่านการผลักดันสินค้าศักยภาพต่าง ๆ เช่น

  • มณฑลกวางตุ้ง
  • มณฑลเจียงซู
  • มหานครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง
  • มณฑลเจ้อเจียง

 

ทั้งนี้ สินค้าศักยภาพในภาพรวมทุกมณฑล ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วน 83.3% จากสินค้าศักยภาพทั้งหมด เช่น

  • ทองแดง
  • ยางรถยนต์
  • ผลิตภัณฑ์ยาง
  • คอนเทนเนอร์
  • ยานยนต์

ขณะที่สินค้าเกษตรและอาหารคิดเป็นสัดส่วน 16.7% เช่น

  • แป้งธัญพืช
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
  • มะพร้าว
  • ผลไม้

ผลการวิเคราะห์ข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการช่วยส่งเสริมการส่งออกได้อย่างตรงจุด ซึ่งภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ สามารถใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการค้าให้สอดคล้องตามศักยภาพ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการยกระดับสินค้าอื่น ๆ ของไทยให้มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้า สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการผลักดันการส่งออกสินค้าไปยังแต่ละมณฑลของจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่ความสามารถทางการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น และจะยิ่งส่งเสริมให้เศรษฐกิจการค้าไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้นต่อไป