“ธีระชัย” ชี้แจก "เงินดิจิทัล 1 หมื่น" ไม่ใช่พายุหมุนทางเศรษฐกิจแต่แค่ลมโชย

22 เม.ย. 2567 | 19:47 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2567 | 19:47 น.

“ธีระชัย” ชี้แจก "เงินดิจิทัล 1 หมื่น" ไม่ใช่พายุหมุนทางเศรษฐกิจแต่แค่ลมโชย เหตุไม่ได้ใช้แหล่งเงินใหม่ ใช้เงินจาก ธ.ก.ส. และงบประมาณปี 67-68 ทำให้จีดีพีที่จะเติบโตผ่านการใช้จ่ายตามปกติหายไป

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล โดยมีข้อความระบุถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทว่า ไม่ใช่พายุหมุนแค่ลมโชย 

นายธีระชัย ระบุว่า รัฐบาลประกาศว่า การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะสร้างพายุหมุน จะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ถามว่า โฆษณาไว้อย่างไร?

ตอบว่า

  • รัฐบาลคุยว่า การแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นจีดีพีปี 2567 ให้ขยายตัวได้ถึง 5% (จากครรลองปกติ 3%) จะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายรอบ

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 3-4%
เม็ดเงิน 560,000 ล้านบาท จะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ ก่อให้เกิดมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท
 

  • คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ประเมินว่า โครงการนี้จะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในเวลาอันรวดเร็ว คาดคะเนว่าเงินจากดิจิทัลวอลเลตจะเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจเฉลี่ย 3.7 รอบ หากคิดจากยอดเงินของโครงการที่ 5 แสนล้านบาท จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 2 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย
  • นักวิชาการผู้นำกลุ่มริเริ่มโครงการบอกว่า "การหมุน จะเกิดขึ้นหลายรอบ ตนคำนวณ 4-5 รอบ และจะเก็บภาษี แวต ได้ตามที่คำนวณในคลิป แต่ที่สำคัญคือ มันไม่ได้หยุดในไตรมาสเดียว มันจะเกิดการหมุนหลายรอบข้ามเวลามากกว่าสี่ไตรมาส Q4/67 ….Q4/68.."

ถามว่า แหล่งเงินสำหรับโครงการจะมาจากไหน?

ตอบว่า

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง, ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ร่วมแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต

ลวรณ ในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงถึงรายละเอียดว่า รัฐบาลดำเนินตามกฎหมายทุกประการ โดยใช้แหล่งเงินที่มาจากงบประมาณทั้ง 500,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้มีการขยายงบประมาณในปี 2568 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จากการดำเนินการโครงการจากหน่วยงานของรัฐ 172,300 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 28 และมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดูแลประชาชนในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรจำนวน 27 ล้านคน
  • งบการบริหารจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

ขอบอกว่า ผลการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่จะเปลี่ยนจากพายุหมุน ไปเป็นลมโชย ก็เนื่องจากการใช้แหล่งเงินจาก ธ.ก.ส. และจากงบประมาณปี 2567

เหตุใดการใช้ 2 แหล่งเงินนี้จะเปลี่ยนจากพายุหมุน ไปเป็นลมโชย?

ตอบว่า บรรดาผู้ที่แถลงข่าวควรคำนึงถึงปัจจัยเศรษฐกิจต่อไปนี้

  • วิธีก่อพายุหมุนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลกู้หนี้สาธารณะ เพราะเป็นการหาเงินใหม่เข้ามาเติมเข้าไปในเศรษฐกิจ แต่เงินจาก 2 แหล่งนี้ไม่ใช่เงินใหม่
  • เมื่อรัฐบาลให้ ธ.ก.ส.ใช้เงินเพื่อดิจิทัลวอลเล็ต นอกจากผิดกฎหมายเพราะอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์แล้ว ยังเป็นเงินจำนวนสูงมาก จะเป็นอุปสรรคต่อการที่ ธ.ก.ส. จะให้กู้ตามครรลองปกติ

ตัวเลขจีดีพีปกติ ประมาณ 3% นั้น ส่วนหนึ่งหนุนจากการที่ ธ.ก.ส.ให้กู้ตามครรลองปกติ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเบียดบังเงินนี้ เอาไปใช้เพื่อการอื่นซึ่งทำให้ ธ.ก.ส. ไม่สามารถให้กู้ได้ตามเดิม ตัวเลขจีดีพีย่อมจะต้องลดลง ต้องหักทอนออกจากพายุหมุน

พายุหมุนจึงกลายเป็นลมโชย

  • การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ให้ได้เงินจำนวน 175,000 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลนั้น ย่อมต้องชะลอการใช้จ่ายด้านอื่น

รายจ่ายประจำปี 2567 ที่เป็นเงินเดือนและสวัสดิการข้าราขการ รวมถึงบรรดาค่าใช้จ่ายประจำ นั้น เดิมผู้รับเงินก็จะเอาไปใช้จ่าย ซึ่งจะหนุนจีดีพีตามแนวโน้มปกติ 3%

เมื่อรัฐบาลเบียดบังเอาไป ตัวเลขจีดีพีย่อมจะต้องลดลง ต้องหักทอนออกจากพายุหมุน

รายจ่ายประจำปี 2567 ที่เป็นโครงการลงทุน เดิมผู้รับเงินก็จะเอาไปใช้จ่าย ซึ่งจะหนุนจีดีพีตามแนวโน้มปกติ 3% แต่นอกเหนือจากนั้น การลงทุนจะเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของประเทศในอนาคต

เมื่อรัฐบาลเบียดบังเอาไป ตัวเลขจีดีพีย่อมจะต้องลดลง ต้องหักทอนออกจากพายุหมุน แต่ที่สำคัญคือ จะกระทบความสามารถในการหารายได้ของประเทศไปในอนาคตอีกด้วย

พายุหมุนจึงกลายเป็นลมโชย

ทฤษฎีสูบออกสูบเข้า

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ให้ตัวอย่างอธิบายแบบภาษาชาวบ้าน

รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้ขาดเลือด ต้องเอาเลือดสูบเข้าร่างกาย แต่เลือดที่จะสูบเข้านี้ ไม่ได้มาจากไหน

เป็นเลือดที่รัฐบาลสูบออกไปจากคนไข้นั้นเอง

สูบเข้าสูบออกนั้น ไม่สามารถเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่