ป.ป.ช. คลอดมาตรการคุมทุจริต “จัดซื้อจัดจ้าง” บัญชีนวัตกรรมไทย

22 เม.ย. 2567 | 06:44 น.
3.5 k

สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอครม.ไฟเขียวเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบาย “จัดซื้อจัดจ้าง” ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรม ในบัญชีนวัตกรรมไทย ป้องกันเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขายรายใดรายหนึ่ง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรม ในบัญชีนวัตกรรมไทย ให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว ซึ่งเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการผลักดันงานวิจัยของภาครัฐไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพย์สินของรัฐอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด 

ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย และให้เท่าทันสถานการณ์การทุจริตที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรม ในบัญชีนวัตกรรมไทย มีรายละเอียดแยกเป็นรายประเด็น ดังนี้

1.ปัญหาการแข่งขันไม่เป็นไปตามกลไกการตลาดอย่างเป็นธรรม และความเสี่ยงการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ 

เห็นควรให้หน่วยงานที่รับช่วงภารกิจต่อจากคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนแนวนโยบายที่ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมโดยตรงจากผู้ประกอบการที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย 

โดยผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมนั้นได้มีการกำหนดราคาไว้แล้ว ประกอบกับการให้สิทธิพิเศษแก่หน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย ไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย

ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แนวนโยบายดังกล่าวเป็นช่องว่างแห่งกฎหมาย (gap in the law) ที่นำไปสู่ความเสี่ยงการเป็นตลาดผู้ขายผูกขาด และความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย โดยอาจพิจารณาแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่หน่วยงานของ รัฐในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การให้แต้มต่อราคา เป็นต้น

2.ปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อยาในบัญชีนวัตกรรมไทย 

เห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการ รักษาพยาบาลข้าราชการ เช่น การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม และกฎหมายอื่นที่มีความเกี่ยวข้องให้แก่บริษัทผู้จำหน่ายยาให้เกิดความรู้ความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

3.ปัญหาการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 

เห็นควรให้สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง กำหนดแนวทางในการกำชับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย ระเบียบ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดในเรื่องดังนี้

การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นต้องมีการสำรวจความต้องการของประชาชน และมีการสำรวจพื้นที่ในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง และมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสภาท้องถิ่นต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาท้องถิ่นอย่างรอบคอบ และควบคุมการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด

การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และการขอรับการสนับสนุนงบประมาณงบกลางฯ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณอย่างเคร่งครัด มีการสำรวจความพร้อมในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือมีเอกสารหลักฐานยืนยันความถูกต้องครบถ้วน และมีการกลั่นกรองโครงการและตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารโครงการอย่างรอบคอบ

การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 8 ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 หมวด 4 ประกอบ กับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 48

การกำหนดราคากลางพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม มาตรา 4(3) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

ทั้งนี้ตามมติครม. ได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปจัดทำแผนปฏิบัติการ หรือแนวทางการดำเนินงานเสนอต่อครม. เพื่อประกอบการพิจารณา และมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป