กฎหมายแรงงาน ฉบับใหม่ คุมเข้มปิดงาน นัดหยุดงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า

16 เม.ย. 2567 | 14:32 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2567 | 14:39 น.
532

กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นปรับปรุงร่างกฎหมายแรงงานใหม่ 2 ฉบับ หลังใช้มานาน คุมเข้มกรณีการปิดงาน และการนัดหยุดงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า พร้อมวางหลักรวมกลุ่ม คุ้มครองลูกจ้าง ป้องกันการแทรกแซง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ กระทรวงแรงงาน ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายแรงงานฉบับปรับปรุงใหม่ รวม 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อเป็นการปรับปรุงกฎหมายที่มีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน จึงไม่สอดคล้องกับพัฒนาการด้านแรงงานสัมพันธ์และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยกฎหมายยังไม่ได้วางหลักการในการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม รวมตัว และการคุ้มครองลูกจ้าง รวมทั้งมีการแทรกแซงในการทำกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์ของลูกจ้าง สหภาพแรงงาน และขาดการคุ้มครองบริการสาธารณะที่สำคัญที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการทำกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์ของลูกจ้าง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน การชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน การปิดงาน และการนัดหยุดงาน 

หลักเกณฑ์การจัดตั้งและการดำเนินงานของสมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหพันธ์นายจ้าง สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง และการคุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือการดำเนินการในด้านแรงงานสัมพันธ์ 

ประกอบกับที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม ค.ศ. 1949 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ให้มีการขับเคลื่อนการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ 

จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อันเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อไป

 

กฎหมายแรงงาน ฉบับใหม่ คุมเข้มปิดงาน นัดหยุดงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า

ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... 

ประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย คือ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่นำมารับฟังความคิดเห็น มีดังนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมให้มีกฎหมายกลางในการรับรองสิทธิในการรวมกลุ่ม รวมตัว ของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นในราชการ องค์การมหาชน หน่วยงานอื่นของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ โดยไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะและต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมาย กฎ หรือระเบียบใดได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะ ก็ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์นั้น (ร่างมาตรา 3)

2. แก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า “นายจ้าง” ให้สอดคล้องกับความหมายของนายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เพื่อคุ้มครองลูกจ้างรับเหมาค่าแรงในการเข้าร่วมกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์เช่นเดียวกับลูกจ้างของนายจ้างโดยตรง (ร่างมาตรา 4 และมาตรา 39)

3. เพิ่มเติมหลักสุจริตและการสร้างความเข้าใจหรือส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในสถานประกอบกิจการ (ร่างมาตรา 8)

4. แก้ไขเพิ่มเติมโดยเพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ โดยให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ย ให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันเอง หรือเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน นอกจากการใช้สิทธินัดหยุดงานหรือปิดงาน (ร่างมาตรา 11)

5. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปิดงานและนัดหยุดงานที่ชอบด้วยกฎหมายในกิจการทั่วไปของนายจ้าง (ไม่ใช่กิจการที่เป็นบริการสาธารณะที่สำคัญ) และกำหนดระยะเวลาแจ้งให้อีกฝ่ายได้ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนการปิดงานหรือนัดหยุดงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการปิดงานหรือนัดหยุดงาน รวมทั้งหาวิธีการในการระงับข้อพิพาทด้านแรงงานโดยสันติวิธี (ร่างมาตรา 17)

6. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนในการใช้สิทธิในการปิดงานและนัดหยุดงานที่ชอบด้วยกฎหมายในกิจการที่เป็นบริการสาธารณะที่สำคัญของนายจ้าง เช่น บริการสาธารณสุข ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น 

โดยกำหนดให้มีการจัดทำแผนบริการขั้นต่ำที่จำเป็นไว้ล่วงหน้า ให้มีการทบทวนแผนทุกปี กำหนดระยะเวลาแจ้งให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันก่อนการปิดงานหรือนัดหยุดงาน กรณีนายจ้างจะปิดงาน พร้อมมีหนังสือแจ้งต่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้สัมปทาน กำหนดการเยียวยาชดใช้ให้ผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงาน กำหนดหน้าที่ของลูกจ้างและนายจ้างในระหว่างที่ลูกจ้างนัดหยุดงาน 

รวมทั้งกำหนดวิธีการระงับการปิดงานหรือนัดหยุดงาน โดยให้มีการชี้ขาดหากมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยของประชาชน (ร่างมาตรา 18 และมาตรา 20)

7. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของสมาคมนายจ้าง สหพันธ์นายจ้าง สภาองค์การนายจ้าง และการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรฝ่ายนายจ้างต่อศาลแรงงาน (ร่างมาตรา 22 ถึง มาตรา 32 และมาตรา 45)

8. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง และการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรฝ่ายลูกจ้างต่อศาลแรงงาน (ร่างมาตรา 34 ถึง มาตรา 41 และมาตรา 46)

9. แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองฝ่ายลูกจ้างเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมจากฝ่ายนายจ้างอันเกิดจากการทำกิจกรรมของฝ่ายลูกจ้าง เช่น การจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจา เป็นต้น โดยคุ้มครองตั้งแต่กระทำการหรือกำลังจะกระทำการ (ร่างมาตรา 47)

10. เพิ่มเติมขั้นตอนเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำอันไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เช่น สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลแรงงาน การวางเงินต่อศาลก่อนฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม เป็นต้น (ร่างมาตรา 48)

11. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับโทษให้เหมาะสม สอดคล้องกับบทบัญญัติที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เช่น กรณีการปิดงานหรือนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ร่างมาตรา 50 และมาตรา 52)

 

กฎหมายแรงงาน ฉบับใหม่ คุมเข้มปิดงาน นัดหยุดงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า

 

ร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย คือ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่นำมารับฟังความคิดเห็น มีดังนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ให้สอดคล้องกับนิยามตามพระราชบัญญัติการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 (ร่างมาตรา 3)

2. เพิ่มเติมหลักสุจริตและการสร้างความเข้าใจหรือส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อเสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจที่ดี (ร่างมาตรา 4)

3. แก้ไขเพิ่มเติมโดยเพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นอกจากการใช้สิทธิปิดงานหรือนัดหยุดงาน โดยให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ย เจรจาตกลงกันเอง หรือเสนอต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพื่อชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน รวมทั้งผลของคำชี้ขาดเกี่ยวกับการเงิน และการอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อศาลแรงงาน (ร่างมาตรา 6 และมาตรา 7)

4. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการด้านแรงงาน เพื่อคุ้มครองฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง (ร่างมาตรา 8)

5. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปิดงานและนัดหยุดงานที่ชอบด้วยกฎหมายในกิจการทั่วไป หรือในกิจการที่ไม่ใช่บริการสาธารณะที่สำคัญ และกำหนดระยะเวลาแจ้งให้อีกฝ่ายได้ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนการปิดงานหรือนัดหยุดงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการปิดงานหรือนัดหยุดงาน รวมทั้งหาวิธีการในการระงับข้อพิพาทด้านแรงงานโดยสันติวิธี (ร่างมาตรา 9)

6. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนในการใช้สิทธิในการปิดงานและนัดหยุดงานที่ชอบด้วยกฎหมายในกิจการที่เป็นบริการสาธารณะที่สำคัญของนายจ้าง เช่น บริการสาธารณสุข ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น โดยกำหนดให้มีการจัดทำแผนบริการขั้นต่ำที่จำเป็นไว้ล่วงหน้า ให้มีการทบทวนแผนทุกปี กำหนดระยะเวลาแจ้งให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันก่อนการปิดงานหรือนัดหยุดงาน 

กรณีนายจ้างจะปิดงานต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ กำหนดการเยียวยาชดใช้ให้ผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงาน กำหนดหน้าที่ของลูกจ้างและนายจ้างในระหว่างที่ลูกจ้างนัดหยุดงาน รวมทั้งกำหนดวิธีการระงับการปิดงานหรือนัดหยุดงาน โดยให้มีการชี้ขาดหากมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยของประชาชน (ร่างมาตรา 10)

7. แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองฝ่ายลูกจ้างเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมจากฝ่ายนายจ้างอันเกิดจากการทำกิจกรรมของฝ่ายลูกจ้าง เช่น การจัดตั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจา เป็นต้น โดยคุ้มครองตั้งแต่กระทำการหรือกำลังจะกระทำการ (ร่างมาตรา 11)

8. เพิ่มเติมขั้นตอนเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำอันไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เช่น การขยายระยะเวลาในการวินิจฉัยชี้ขาด สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลแรงงานและการวางเงินต่อศาลก่อนฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม เป็นต้น (ร่างมาตรา 12)

9. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขการดำเนินคดีอาญาจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม โดยกำหนดให้ผู้เสียหายจะต้องยื่นคำร้องและผู้ถูกกล่าวหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จึงจะดำเนินคดีต่อไปได้ (ร่างมาตรา 13)

10. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการจัดตั้ง การเลิกสหภาพแรงงานและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจต่อศาลแรงงาน (ร่างมาตรา 14 ถึง มาตรา 25)

11. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับโทษให้เหมาะสม สอดคล้องกับบทบัญญัติที่มีการแก้ไข เช่น การเข้าไปแทรกแซงการทำกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์ของฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง การปิดงานหรือนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ร่างมาตรา 27)