รัฐบาลดึง Digital Wallet ทุกแบงก์ ร่วมวงแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

11 เม.ย. 2567 | 06:01 น.
5.2 k

บทสรุป นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet พร้อมเปิดรายละเอียด Super App ของรัฐบาล ใช้ดิจิทัลวอลเล็ต ทุกแบงก์ ไม่ปิดแอปพลิเคชัน เป๋าตัง พร้อมเชื่อมโยงระบบแจกเงินได้

นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้ข้อสรุปชัดเจน หลังจากรัฐบาลตั้งโต๊ะแถลงรายละเอียด ระบุว่า พร้อมเปิดให้ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 อย่างแน่นอน 

โดยการจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น ซูเปอร์แอปฯ (Super App) ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open Loop

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า หากจะให้บอกถึงหน้าตา Super App ของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะต้องรอให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดทำรายละเอียดของซูเปอร์แอปฯ ก่อน

 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

ส่วนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งเป็นแอปฯดั้งเดิมที่รัฐบาลใช้ในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ลงไปนั้น รมช.คลังยืนยันว่า ภายใตโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แอปฯ เป๋าตัง ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เข้ามาเชื่อมโยงได้

“รัฐบาลเปิดทางเลือกให้กับประชาชน สามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น สามารถรับเงินได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะเป็นกระบวนการนำเงินออก หรือกระบวนใดก็ตาม วิธีการก็คือรัฐบาลจะเปิดให้ความเชื่อมโยงกับ Digital Wallet ที่อยู่ในระบบทั้งหมดที่จะมาเชื่อมกับโครงการ โดย Digital Wallet ของธนาคาร เช่น สีฟ้า สีเขียว หรือสีต่าง ๆ ถ้าอยากเชื่อมระบบ ก็สามารถมาเชื่อมได้และจะลิงก์ไปยังบัญชีที่อยู่ภายใต้ธนาคารนั้น ๆ ได้ นี่คือการทำในลักษณะของ Open Loop” นายจุลพันธ์ ระบุ

สำหรับเงื่อนไข และแนวทางการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นั้น สรุปได้ดังนี้ 

กลุ่มเป้าหมาย

  • คนไทย 50 ล้านคน 
  • อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน 
  • ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
  • ไม่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท
  • ผู้ที่เคยร่วมโครงการ Easy e-Receipt สามารถเข้าร่วมโครงการได้

เงื่อนไขการใช้จ่าย

  • กลุ่มแรก : ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
  • กลุ่มที่สอง : ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอ และขนาดของร้านค้าการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ 

การใช้จ่ายเงินโครงการ

  • รอบที่ 1 : จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ในระยะเวลา 6 เดือน เบื้องต้นกำหนดให้เป็นร้านค้าในกลุ่มร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กลงมา
  • รอบที่ 2 ขึ้นไป : จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า และพื้นที่ โดยจะยังเบิกเงินไม่ได้ เพื่อส่งเสริมการเกิดการหมุนเวียนในระบบ

ประเภทสินค้า 

สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ยกเว้นสินค้าดังนี้ 

  • สินค้าอบายมุขประเภทต่าง ๆ
  • น้ำมันเชื้อเพลง 
  • บริการ 
  • ออนไลน์ 
  • สินค้าที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

 

เงื่อนไข และแนวทางการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รวม 50 ล้านคน

 

นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า ในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยการให้สิทธิแก่ประชาชน จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 1.2 - 1.8% จากกรณีฐาน โดยขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการ

อย่างไรก็ตามหลังจากเงื่อนไน รายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว ขั้นตอนต่อไปกระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ จะนำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567 นี้