คลังร่วมประชุม รมว.คลังอาเซียน หนุนการเงินเพื่อความยั่งยืน

06 เม.ย. 2567 | 15:22 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2567 | 15:23 น.

คลังร่วมประชุม รมว.คลังอาเซียน หนุนการเงินการคลังเพื่อความยั่งยืน พร้อมเห็นชอบ 3 แนวยุทธศาสตร์ “เชื่อมโยงเศรษฐกิจ-สร้างอนาคตยั่งยืน-เปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตดิจิทัล” ผลักดันเศรษฐกิจปี 67

นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2567 นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 11

การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)

โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงินและผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป. ลาว เป็นประธานร่วมของการประชุม AFMGM ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียน: เสริมสร้างความเชื่อมโยงและภูมิคุ้มกัน” (ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience) ซึ่งมีรายละเอียดการประชุมฯ ดังนี้

1. การประชุม AFMM ครั้งที่ 29 ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียนในประเด็นต่าง ๆ เช่น

  • การปรับบทบาท (Repositioning) ของกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) โดยสนับสนุนเงินทุนเฉพาะโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย AIF จะให้กู้เฉพาะโครงการที่สอดคล้องกับหลักการและเกณฑ์การเข้าร่วมของกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility: ACGF)
  • การดำเนินการตามโครงการระบบศุลกากรผ่านแดนแบบเต็มรูปแบบ โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมแล้ว 9 ประเทศ
  • การพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Taxonomy) เวอร์ชัน 3 และ 4 โดยได้มีการจัดทำเกณฑ์การจัดหมวดหมู่เพิ่มเติมในอีก 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคการขนส่ง การก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองร่างขอบเขตการดำเนินงานของการจัดประชุมการคลังอาเซียน (ASEAN Treasury Forum: ATF) เพื่อเป็นเวทีหารือในประเด็นการบริหารการคลัง โดยจะจัดขึ้น ณ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในเดือนกันยายน 2567 เป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้กล่าวสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือด้านการเงินการคลังอาเซียนด้านความยั่งยืน เช่น การปรับบทบาทของ AIF ให้สอดคล้องกับหลักการและเกณฑ์การเข้าร่วมของ ACGF เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมพัฒนา ATF ให้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านนโยบายการคลังเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลทางการคลังที่ดี รวมถึงสร้างความมั่นคงทางการคลังในภูมิภาคอาเซียนอย่างทั่วถึง

2. การประชุม AFMGM ครั้งที่ 11 ได้เห็นชอบประเด็นที่ สปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ต้องการผลักดันในปี 2567 (ASEAN Chair’s Priorities For 2024: PEDs) ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การบูรณาการและเชื่อมโยงเศรษฐกิจ (2) การสร้างอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน และ (3) การเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตดิจิทัล

และได้มีการหารือเพิ่มเติมในอีก 4 ประเด็น ได้แก่ (1) แนวทางการปรับรูปแบบการดำเนินงานของคณะทำงานในอาเซียนเพื่อทบทวนงานที่ได้รับมอบหมายของคณะทำงานในอาเซียน (2) แนวทางการจัดตั้งคณะทำงานระหว่างภาคส่วนในอาเซียน (ASEAN Cross-Sectoral Working Committee) (3) แนวปฏิบัติสำหรับความร่วมมือนอกภาคีสำหรับความร่วมมือด้านการเงินอาเซียน และ (4) ความร่วมมือด้านบริการทางการเงินระหว่างอาเซียนและสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนสามารถฟื้นตัวได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และมีภูมิคุ้มกัน โดยมีผู้แทนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุม

ในการนี้ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนา ASEAN Taxonomy และนโยบายด้านการเงินยั่งยืนอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความร่วมมือด้านการเงินการคลังอาเซียนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาคมอาเซียน เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นต้น

และยังได้ให้ความเห็นว่า แนวทางการจัดตั้งคณะทำงานระหว่างภาคส่วนในอาเซียนจะสามารถเพิ่มพูนศักยภาพในความร่วมมือในกรอบความร่วมมืออื่น ๆ อีกด้วย อย่างไรก็ดี เห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับคณะทำงานที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว เพื่อให้คณะทำงานดังกล่าวมีทรัพยากรเพียงพอในการผลักดันประเด็นที่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากการประชุม AFMM ครั้งที่ 28 และ AFMGM ครั้งที่ 11 ยังมีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ABAC) สภาที่ปรึกษาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (European Union-ASEAN Business Council: EU-ABC) และสภาที่ปรึกษาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (United States-ASEAN Business Council: US-ABC) อีกด้วย

โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อข้อเสนอของทั้ง 3 หน่วยงาน เช่น การเปลี่ยนผ่านไปยังเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การสนับสนุนความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานผ่านกลไกตลาดการเงิน เป็นต้น

“การประชุมฯ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินการคลังในอาเซียนที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการเงินการคลังกับประเทศสมาชิกอาเซียน”