แบงก์ชาติ-พาณิชย์ ติง “โคแสนล้าน” เกษตรกรแบกหนี้-อุปทานส่วนเกิน

05 เม.ย. 2567 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2567 | 13:54 น.
3.1 k

แบงก์ชาติ ทำหนังสือ “ด่วนที่สุด” ติง โครงการ “โคแสนล้าน” ครัวเรือนละ 50,000 บาท ปิดจุดอ่อนไม่ให้ซ้ำรอยโครงการในอดีต หวั่น ภาระหนี้ระยะยาว-กรอบวงเงิน มาตรา 28 ใกล้เต็มเพดาน พาณิชย์ แนะ หามาตรการป้องกัน โคล้นตลาด-โครงการซ้ำซ้อน

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง ภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของสถานบ้านการเงินที่กำหนด กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) สำหรับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเพื่อเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 50,000 บาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือ “ด่วนที่สุด” ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ธปท.ฝกฉ.(73) 56 / 2567 ของ ธปท. เรื่อง การดำเนินการโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง สลค. ระบุว่า 

ตามที่ สลค. มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0506 / ว (ล) 1236 ลงวันที่ 17 มกราคม 2567 แจ้งว่า คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้เสนอเรื่อง การดำเนินงานโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง ให้ ครม.พิจารณา โดยขอให้ ธปท. เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.นั้น 

ธปท. พิจารณาโครงการดังกล่าวแล้วมีความเห็น ดังนี้ 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีกระบวนการควบคุมเพื่อปิดประเด็นข้อบกพร่องและจุดอ่อนจากการดำเนินโครงการในอดีต

รวมถึงการพัฒนาเพิ่มองค์ความรู้ให้เกษตรกรที่ชัดเจนและเป็นระบบ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมถึงปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ อาทิ การสนับสนุนแหล่งเงินทุน การจัดหาและคัดกรองแม่พันธุ์โค กระบวนการเพาะเลี้ยงที่เป็นมาตรฐานตลอดจนตลาดในการจัดจำหน่าย 

2.ควรกำหนดแนวทางควบคุมดูแลประสิทธิภาพการดำเนินโครงการที่ชัดเจน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงโคเนื้อที่มีคุณภาพสูง และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภาระหนี้สินต่อเกษตรกรในระยะยาว อาทิ

  • กำหนดคุณสมบัติเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการที่มีศักยภาพและมีความรู้ความสามารถ รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการพัฒนาทักษะเพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูงได้
  • กำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพโคและการเพาะเลี้ยงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด 

3.การกำหนดสถาบันการเงินที่เป็นแหล่งเงินทุน ควรพิจารณาถึงความพร้อมและความเสี่ยงที่จะเกิดกับสถาบันการเงินที่ต้องดำเนินโครงการเป็นสำคัญ

โดยหากมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) จากโครงการดังกล่าว ควรกำหนดกรอบการชดเชยความเสียหายให้แก่สถาบันการเงินอย่างชัดเจน 

4.ควรกำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมเพื่อรับทราบปัญหาและใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงต่อยอดการดำเนินโครงการต่อไป 

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 จึงควรคำนึงถึงกรอบวงเงินภายใต้มาตรา 28 ดังกล่าวที่เหลืออยู่อย่างจำกัดด้วย 

ขณะที่ หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ พณ 0404/1312 เรื่อง ความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. เรื่อง การดำเนินโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไม่มีข้อขัดข้อง แต่ควรหาแนวทางป้องกันอุปทานส่วนเกิน เกษตรกรเข้าร่วมโครงการซ้ำซ้อน 

กระทรวงพาณิชย์ ไม่มีข้อขัดข้องต่อโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง อย่างไรก็ตาม ควรมีการวิเคราะห์หาแนวทางบริหารความเสี่ยงการดำเนินการโครงการฯ จากประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานตามโครงการโคที่ผ่านมา อาทิ

การสร้างองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเลี้ยงโคเนื้อ การป้องกันไม่ให้เกิดอุปทานส่วนเกิน และความซ้ำซ้อนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโคที่ผ่านมา

รวมทั้ง ควรสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้เกษตรกรทราบถึงรายละเอียดของโครงการฯ โดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายที่เกษตรกรต้องรับผิดชอบ