ตะลึง! ผลสอบที่ดินส.ป.ก. 36 ล้านไร่ ใช้ผิดวัตถุประสงค์อื้อ

26 มี.ค. 2567 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2567 | 14:29 น.

ผลตรวจสอบที่ดินเขตปฏิรูป 36 ล้านไร่ ผ่านดาวเทียม พบใช้ผิดวัตถุประสงค์อื้อ ส.ป.ก.จังหวัด แทงหนังสือลับถึง“ธรรมนัส” ดึงมหาดไทยร่วมวง ให้ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการจังหวัด สกัดนายทุน-นอมินีสวมสิทธิ์ เกษตรกรหนุนเก็บค่าเช่า รร.-รีสอร์ท สูงกว่า 600 บาทต่อปี ลดขัดแย้ง

ประเด็นข้อพิพาทระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตปฏิรูปที่ดินกับป่าสงวนและป่าไม้ถาวรที่เกิดขึ้น ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมายังไม่จบ

ขณะที่การตรวจสอบนโยบายเก็บค่าเช่าที่ดินจากผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจอื่นๆ ที่ได้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ในการทำธุรกิจ ที่จะเปลี่ยนเป็นรายได้เข้ากองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแทนการรื้อถอน ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ

ตะลึง! ผลสอบที่ดินส.ป.ก. 36 ล้านไร่ ใช้ผิดวัตถุประสงค์อื้อ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลการประชุม คปก. (8 มี.ค.67) มีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานได้มีการรายงานผลการตรวจสอบการถือครองที่ดิน และการทำประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก. จำนวนกว่า 36 ล้านไร่ (กราฟิกประกอบ) และที่ดินที่มีหนังสือแสดงสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน จำนวน 535,487 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.พ.67) ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบันรวม 49 ปี

“จากผลการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นรายแปลงในพื้นที่จริงจากภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายทางดาวเทียมรายละเอียดสูง พบมีภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินผิดปกติ มีความสุ่มเสี่ยงการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ และมีความเสี่ยงอาจจะเปลี่ยนผู้ถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาต

เช่น พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ที่มีความเจริญ หรือมีศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ ทางหลวง (มอเตอร์เวย์) ด่านชายแดนต่างๆ และมีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ มีการขุดดิน ทำรีสอร์ท ปลูกพืชติดกันเป็นผืนใหญ่และพื้นที่เปลี่ยนสภาพการทำประโยชน์จากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่อื่น

รวมทั้งพื้นที่ที่มีสภาพไม่เหมาะสมสำหรับการเกษตร เป็นต้น โดยให้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง บันทึกถ้อยคำภาพถ่ายแปลงที่ดินเป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป”

 

ตะลึง! ผลสอบที่ดินส.ป.ก. 36 ล้านไร่ ใช้ผิดวัตถุประสงค์อื้อ

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า หนึ่งใน ส.ป.ก.จังหวัด ได้ส่งหนังสือประทับตราลับ ร่ายยาวถึงปัญหาต่างๆ ทั้งบุคลากรไม่เพียงพอ ไม่สามารถตรวจสอบรายแปลงได้ทั่วถึงเป็นรายหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ

ดังนั้นจะต้องให้ทางผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ทำหนังสือถึงผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมเป็นกรรมการระดับจังหวัดเพื่อตรวจสอบที่ดิน เพื่อลดปัญหาบางพื้นที่ผู้นำชุมชนไม่ถูกกัน ก็เกรงว่าจะทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยน เกิดการกลั่นแกล้งกัน จะยิ่งทำให้การตรวจสอบล่าช้าไปอีก ดังนั้นต้องเร่งตั้งโดยเร็ว เพราะลำพังกระทรวงเกษตรฯ หน่วยงานเดียวทำยาก

ตะลึง! ผลสอบที่ดินส.ป.ก. 36 ล้านไร่ ใช้ผิดวัตถุประสงค์อื้อ

ด้านนายตระกูล สว่างอารมณ์ กรรมการ คปก. กล่าวว่า ถึงการตรวจสอบคุณสมบัติจัดสรรที่ดิน 3 ประเภท ของ ส.ป.ก. แบ่งเป็น 1.ที่เกษตรกรรม ต้องเป็นเกษตรกร ขึ้นทะเบียนเกษตรกร และต้องไม่มีประกันสังคม หรือใช้พื้นที่ตามคำขอ เช่น 50 ไร่ เป็นต้น 2.พื้นที่ชุมชน ต้องพิจารณาว่าการอนุมัติให้เข้ามาใช้พื้นที่ในรูปแบบใด มีเงื่อนไขอย่างไร ยกตัวอย่างพื้นบางละมุง และพัทยาของชลบุรี ไม่ใช่เป็นเกษตรกร แต่เป็นคนที่อยู่เดิมวัตถุประสงค์ต้องใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวจะไปเปิดผับ บาร์ คาเฟ่ ไม่ได้ ยกเว้นธุรกิจเกี่ยวเนื่องการเกษตร หรือรายการที่รัฐมนตรีให้ประกอบธุรกิจได้ เป็นต้น

 3.ที่ดินเอกชนที่เป็นที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือ โฉนด ทั่วไป ที่ ส.ป.ก.นำเงินจากกองทุนไปซื้อแล้วนำมาจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกร แล้วนำไปให้ สถาบันเกษตรกร/สหกรณ์  เช่า อาทิ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาทำไร่มันสำปะหลังกันมาก อยากจะสร้างโรงงานแป้งมัน แต่ปรากฏพื้นที่ที่จะสร้างโรงงาน อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ก่อนหน้านั้นได้ซื้อไว้ก่อนแล้วก็ขอเช่าใช้ เป็นต้น แต่ถ้ามาขอแล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นผิดวัตถุประสงค์ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

 “ส่วนของโรงแรม และรีสอร์ท ที่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.ก็เห็นด้วยที่จะเก็บค่าเช่า  จากประเทศไทยในแต่ละจังหวัดมีความเจริญ และพัฒนาไปไกลมากแล้วจะมาอยู่แบบเดิมไม่ได้ ดังนั้นควรจะออกกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นพื้นที่กรมป่าไม้ แล้วโอนมาให้ ส.ป.ก. พออยู่ไปเห็นอากาศดีก็พัฒนาเป็นโรมแรม รีสอร์ท บังกะโลขึ้นมา ทำผิดระเบียบจริง แต่ไม่ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ไปบุกรุกใหม่ ก็ควรจะไปทำกฎหมายใหม่ เก็บค่าเช่าในอัตราที่สูงขึ้นกว่า 600 บาท/ปี เพื่อลดความขัดแย้ง  แล้วนำเงินเข้ากองทุน เปรียบเทียบกับนักการเมืองที่ทำผิด ทำไมนิรโทษกรรมได้”  นายตระกูลกล่าว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,977 วันที่ 24-27 มีนาคม พ.ศ. 2567