"มูเตลู" สู่ Muketing เจาะลึกพฤติกรรมกลุ่ม Gen X-Y-Z

19 มี.ค. 2567 | 13:25 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2567 | 13:33 น.
1.9 k

ฮาคูโฮโดฯ เปิดกลยุทธ์ "มูเตลู" มุ่งเจาะกลุ่มคนไทย Gen X-Y-Z ที่มีความสนใจในศาสตร์ความเชื่อ พร้อมเปิดผลสำรวจ "MY GEN MY MU" ชี้ว่าคนไทยมีความศรัทธาในศาสตร์ความเชื่อสูง โดยเฉพาะเรื่อง "การเงิน-โชคลาภ"

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) โดย บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นสถาบันวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับ การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย เปิดผลสำรวจ "MY GEN MY MU" เจาะลึกพฤติกรรมการ "มูเตลู" ของคนไทยทุกวัย  จากคำตอบของผู้เข้าร่วมทำแบบทดสอบกว่า 1,200 คน พบว่า 88% ของคนไทย เชื่อเรื่องการมู โดย "เงิน" และ "โชคลาภ" ครองแชมป์เรื่องที่มูมากที่สุด

นางสาวพร้อมพร สุภัทรวณิช รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลุยทธ์ กล่าวว่า การเปิดเผยผลสำรวจครั้งนี้ มาจากจุดเริ่มต้นของสถาบันฯ ที่ต้องการศึกษาผู้คนอย่างลึกซึ้งโดยอิงจากปรัชญาของญี่ปุ่นว่า Sei-katsu-sha จึงนำไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยทุก ๆ สองเดือน โดยได้ศึกษาในหัวข้อพิเศษ MY GEN MY MU มูต่างวัย มองต่างมุม

\"มูเตลู\" สู่ Muketing เจาะลึกพฤติกรรมกลุ่ม Gen X-Y-Z

จากผลสำรวจยังชี้ว่า กว่า 52% มอง "การมูเตลู" เป็น "เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ" สะท้อนว่าการมูกลายเป็นที่พึ่งทางใจ ยิ่งในช่วงที่ผู้คนเผชิญกับความท้าทาย ฮาคูโฮโด มองว่า ข้อมูลนี้มีประโยชน์ต่อแบรนด์ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์ที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมายการมูจึงเป็นอีกหนึ่ง กุญแจสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่

นายกรรณ ทองศรี ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ กล่าวว่า แม้สังคมไทยจะให้ความสำคัญกับครอบครัว แต่ผลสำรวจเผยว่า กว่า 65% ของคนไทย มักขอพรเพื่อตัวเองมากกว่า และแม้ว่าเราจะขอพรเพื่อตัวเองแล้วนั้นยังคงมีความแตกต่างที่น่าสนใจเมื่อเจาะลึกลงไปในหัวข้อที่ว่า ผู้ชายกับผู้หญิงมูต่างกันอย่างไร ซึ่งพบว่าในเพศชายมีแนวโน้มที่จะต้องการผู้รับฟัง เมื่อเทียบกับผู้หญิง

ทุกวันนี้คนไทยคุ้นเคยกับวัฒนธรรม "มูเตลู" ที่ผสมผสานความเชื่อทั้งในศาสนาของตัวเอง ศาสนาอื่น ไปจนถึงเครื่องรางของขลัง เลขมงคล และสีมงคล ล้วนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จากการศึกษา MY GEN MY MU มูต่างวัย มองต่างมุม โดยฮาคูโฮโด พบว่า "มู" นั้นมีความหมายและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละเจเนอเรชั่น โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้

1. Gen X: The Ritual Believer #มูแบบtraditional

คน Gen X หรือผู้คนที่อยู่ในช่วงอายุ 43 - 58 ปี เป็นช่วงวัยที่เติบโตในช่วงเริ่มต้นทุนนิยมในไทย เน้นการยึดหลักปฏิบัติและธรรมเนียมที่มีมาแต่รุ่นก่อน Gen X จึงเน้นเรื่องการสวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญทำทาน โดยมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็น “Booster” เสริมความหวังและกำลังใจให้แก่ตนเอง และมีการมูเตลูเพื่อขอเรื่องสุขภาพมากกว่า 

\"มูเตลู\" สู่ Muketing เจาะลึกพฤติกรรมกลุ่ม Gen X-Y-Z

2. Gen Y: The Curated Explorer #มูที่ใช่ไร้ขีดจำกัด

คน Gen Y มีคาเรกเตอร์เฉพาะตัวคือ เปิดรับ และ ปรับตัวเก่ง เนื่องจากคนในช่วงอายุ 27 - 42 ปี เติบโตมาในช่วงจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คน Gen Y เอง ถือเป็นช่วงอายุที่เป็นวัยสร้างตัว จึงมักได้ชื่อเล่นว่าเป็น ‘เดอะแบก’ มีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่และครอบครัวของตัวเอง ดังนั้นจึงโฟกัสกับการเงินและการงานมากกว่า

3. Gen Z: The Minimal Integrator #มูแบบมินิมอล 

Gen Z วัยรุ่นยุคดิจิทัล ช่วงอายุ 11 - 26 ปี ปรับเปลี่ยนรูปแบบการ "มู" ให้กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน ผ่านแฟชั่นและสีสัน สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่คล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ และพร้อมสนุกกับทุกสถานการณ์การมูแบบมินิมอล ของ Gen Z มุ่ง การงาน และ การเรียน ผ่านสัญลักษณ์มงคลต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าสีมงคล เครื่องประดับมงคลชิ้นเล็ก ๆ หรือแม้แต่ วอลล์เปเปอร์บนหน้าจอโทรศัพท์สาเหตุหลัก ที่ Gen Z นิยมมูแบบมินิมอล เนื่องมาจากช่วงวัยที่อยู่ในช่วงเรียนหรือกำลังเริ่มต้นทำงาน เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการค้นหาตัวเอง

นางสาวดวงแก้ว ไชยสุริวิรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ กล่าวว่า ได้แจกแจงและให้คำแนะนำแก่แบรนด์ ที่ต้องการนำผลการศึกษาในครั้งนี้ไปปรับเป็นกลยุทธ์ให้เข้ากับแบรนด์ของตนเองเพื่อก่อให้เกิดความน่าสนใจ ไว้ 3 กลยุทธ์หลัก คือ

1. Gen X: Empowering Muketing “เติมพลังใจ เพิ่มพลังกายคนสายมู” 

เติมพลังให้กับชาว Gen X ด้วยการเน้นการส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพให้กับคนกลุ่มนี้เป็นหลัก โดยสามารถเพิ่มความน่าสนใจและคุณค่าในแง่ของความสุขทางใจ ด้วยกิจกรรมมูเตลูที่พวกเขาคุ้นเคย เช่น จัดอีเว้นท์ กิจกรรมเดิน-วิ่ง 9 วัด” ที่ให้คน Gen  X ได้สวดมนต์ ทำบุญขอพรและได้ออกกำลังกายไปพร้อมกัน หรือจัดทำ “Packaging บทสวดมนต์ บทอวยพรมงคล” ที่ทำให้พวกเขาสามารถสวดเพิ่มกำลังใจได้ทุกที่ทุกเวลา 

2.Gen Y: Embracing Muketing “เปิดประสบการณ์มูแบบใหม่ ๆ เอาใจคนชอบลอง”

คน Gen Y มีนิสัยเปิดกว้าง ชอบลองของใหม่ ชอบโพสและแชร์ชีวิตแบบฮิป ๆ ของตัวเอง ดังนั้นแบรนด์อาจ recommend การมูแบบใหม่ ๆ ที่ไม่มีมาก่อน โดยยึดหลัก “จุดประสงค์ชัด ประสบการณ์ใหม่ ถ่ายรูปสวย”

\"มูเตลู\" สู่ Muketing เจาะลึกพฤติกรรมกลุ่ม Gen X-Y-Z

3. Gen Z: Embellish Muketing “Mu-nimalistic เอาใจคนรุ่นใหม่” 

“มูแบบไม่ตะโกน” คือวิธีการมูที่ถูกจริตชาว Gen Z ที่สุด แบรนด์สามารถเพิ่มโอกาสในการเชื่อมต่อกับคน Gen Z ได้ด้วยการเสริมเรื่องราวมูเตลูที่ “ดูดีมีสไตล์” และ “มีส่วนร่วมกันกับเพื่อน ๆ ได้” ให้กับสินค้าหรือบริการ เช่น จัดแพคสินค้าสีมงคล สำหรับทุก ๆ วัน

แม้การมูเตลูจะแพร่หลายในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อเรามองให้ลึกลงไปผ่านหลักปรัชญา Sei-Katsu-Sha เราจะเห็นได้ว่า คนแต่ละยุคสมัย ต่างมีมุมมองและการกระทำที่ไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดมาจากภูมิหลังของชีวิต ปัจจัยเศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

สิ่งเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ฮาคูโฮโดจะยังคงทำการศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยทุก ๆ สองเดือนอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงนำผลการศึกษามาเผยแพร่ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ให้ได้นำกลยุทธ์และคำแนะนำที่ทางสถาบันให้ไว้ ได้กลับไปปรับใช้ให้เข้ากับแบรนด์ของตนเอง เพื่อให้เกิดผลอันดีต่อแบรนด์ต่าง ๆ ต่อไป