“ฟรีวีซ่าไทย-จีน” เชียงใหม่ไร้สัญญาณบวก ชงจัดอีเวนต์ระดับโลกเสียบแทน

06 มี.ค. 2567 | 09:18 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2567 | 21:13 น.
710

Visit ChiangMai ประเมินเปิดฟรีวีซ่าไทย-จีน ตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังไร้สัญญาณบวก ชี้เที่ยวบินตรงจากจีนน้อยกว่าปี 2562 เท่าตัว ซ้ำนักท่องเที่ยวจีนเข้าเชียงใหม่ลดลง จ่อเสนอผู้ว่าฯทบทวนปัญหาเชียงใหม่ไร้เสน่ห์

นายวรพงษ์ หมู่ชาวใต้ ประธานฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการตลาดเมือง วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Visit ChiangMai เปิดเผยถึงสถิติผู้โดยสารผ่านเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศสู่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ไม่รวมเที่ยวบิน Transit / connecting CIQ ระหว่างวันที่ 1-29 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า จีนยังครองแชมป์ มีผู้โดยสารจำนวน 32,885 คน รองลงมาเป็นเกาหลี มีผู้โดยสารจำนวน 29,445 คน และไต้หวัน มีผู้โดยสารจำนวน 14,806 คน 

หากเปรียบเทียบจำนวนผู้โดยสารจากจีน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กับช่วงเดือนกันของปี 2562 ยังต่ำกว่าร้อยละ 60 แม้ว่าวันที่ 1 มีนาคม 2567 เปิดฟรีซ่าไทย-จีน แล้ว แต่ยังมองว่าจังหวัดเชียงใหม่ได้รับอานิสงส์น้อยมาก เพราะปัจจุบันมีสายการบินตรงจากจีนเพียง 8 สายการบินเท่านั้น ขณะที่จำนวนเที่ยวบินมีเพียง 11 เที่ยวบินต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 มีมากถึง 30 เที่ยวบิน  คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจะประเมินทิศทางได้ชัดเจนว่า ฟรีวีซ่าไทย-จีน มีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวเชียงใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน 

นายวรพงษ์ กล่าวอีกว่า ตามที่ได้มีการหารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวภาพรวมของปี 2567 น่าจะแตะอยู่ที่ 70,000-80,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2566 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนประสบกับภาวะการแพร่ระบาดของโควิด จังหวัดเชียงใหม่มีรายได้มากถึง 100,000 ล้านบาท จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องทบทวนสาเหตุที่จังหวัดเชียงใหม่ฟื้นจากการท่องเที่ยวล่าช้า โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน ยังไม่มีแนวโน้มกลับมาคึกคักแต่อย่างใด 

ขณะที่ทาง Visit ChiangMai มองว่าปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเข้ามารองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว มีเพียงวัด และช้างเท่านั้นที่ยังพอขายได้ อีกทั้งระหว่างปี 2566 จนถึงปัจจุบัน สายการบินจีนยังนิ่ง และไม่มีสัญญาณบวก ทำให้ตลาดจีนไม่หวือหวา เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562  และผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินจีนกลับเป็นประเทศที่ 3 มากกว่าชาวจีน

“ฟรีวีซ่าไทย-จีน” เชียงใหม่ไร้สัญญาณบวก ชงจัดอีเวนต์ระดับโลกเสียบแทน

ดังนั้น  ภายในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการรวบรวมข้อเสนอแนะให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถึงแนวทางในการฟื้นตลาดท่องเที่ยวให้กับมาคึกคัก เช่น ควรจะมีการระดมกลุ่มจัดอีเวนต์ทั่วประเทศและต่างประเทศ มาระดมสมองให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดท่องเที่ยว  และยังพบว่า ในปี 2566 ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 เป็นช่วงปิดเทอมของนักเรียนมากถึง 8 ประเทศที่มีสายการบินเชื่อมโยงกับจังหวัดเชียงใหม่ไม่ว่าจะเป็นสิงค์โปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฮ่องกง, ไต้หวัน, จีน, เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะมาท่องเที่ยวแบบครอบครัว แต่จังหวัดเชียงใหม่ไม่มีกิจกรรมใดๆ รองรับ 

นายวรพงษ์ สะท้อนความเห็นอีกว่า สิ่งสำคัญ จังหวัดเชียงใหม่ต้องระดมมันสมองวงการท่องเที่ยว เช่น ควรจะมีการจัดคอนเสิร์ตระดับโลกได้หรือไม่  เพราะมีทั้งสถานที่ และที่พักเพียงพอ ในการรองรับผู้เข้าชมคอนเสิร์ตได้ 50,000 -100,000 คน อาจใช้พื้นที่อำเภอดอยเต่า  จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่จัดงาน

หากประเมินในวันนี้จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่มียาแรงเพียงพอที่จะกระตุ้นตลาดจีนได้ เมื่อเทียบกับทางภูเก็ต หรือพัทยา ที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนได้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคฝ่ายต้องมาเร่งระดมสมอง และจัดการปัญหาให้เร็วที่สุด 

ด้านนางละเอียด บุ้งศรีทอง ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่อาจจะดีที่กรุงเทพ และภูเก็ต ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่มีเที่ยวบินจากจีน มาจาก 8 เมือง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังมีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับปี 2562  แต่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมระดับ 4-5 ดาวไม่ได้รับผลกระทบ สามารถหาตลาดใหม่เข้ามาทดแทนได้

ส่วนการเปิดฟรีวีซ่าไทย-จีน ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567  ทำให้นักท่องเที่ยวไทยไหลออกนอกประเทศเหมือนปี 2566 เพราะมีความสะดวก โดยเฉพาะราคาตั๋วเครื่องบินที่สายการบินทำโปรโมชั่นราคาถูก

ขณะที่ตั๋วบินภายในประเทศ เข้ามาจังหวัดเชียงใหม่กลับมีราคาแพง เป็นปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวไทยหายไป  หากคนไทยออกไปเที่ยวจีนได้ง่ายโดยไม่มีวีซ่า อาจส่งผลกระทบต่อเชียงใหม่พอสมควร ซึ่งจะประเมินได้หลังจากมีการเก็บสถิติการเดินทางไปจีนผ่านท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้สูงว่าใน ไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังคงซบเซา แต่มีลุ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม จะเป็นช่วงหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชาวจีนให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และอาจจะเลือกมาท่องเที่ยวเชียงใหม่ รองจากภูเก็ต และกรุงเทพฯ 

..................

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,972 วันที่ 7-9มี.ค.2561