เปิดร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล เพิ่มสิทธิ ขยายสวัสดิการ

28 ก.พ. 2567 | 19:10 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 19:13 น.

เปิดสาระสำคัญร่างแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล เสนอสภาชง 9 ประเด็นหลัก ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ จ่ายโอที ลาพักร้อน 10 วันสะสมได้ ขึ้นค่าแรงทุกปีอัตโนมัติ 

การแก้ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นับเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงที่พรรคก้าวไกลประกาศเป็นนโยบายจะผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งในวันนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาโหวตรับหลักการวาระที่ 1 ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ โดยเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 20 ปี โดยมีสาระสำคัญอยู่ 9 ข้อ ดังนี้ 

1.การแก้ไขร่างเดิมในมาตรา 5 เกี่ยวกับนิยามคำว่า "นายจ้าง-ลูกจ้าง-วันลา" โดยขยายขอบเขตให้คลอบคลุมมากขึ้น ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงอาชีพไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ และแรงงานอิสระ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

โดยเฉพาะในส่วนของ "นายจ้าง" ให้หมายถึง การจ้างงานด้วยสัญญาต่าง ๆ ให้ได้รับค่าตอบแทน รวมถึงผู้ประกอบการหรือภาครัฐ ส่วน "ลูกจ้าง" ที่ปรากฏและไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร คือ "ผู้รับจ้าง" รวมถึงวันลา 

2.แก้ไขมาตรา 5 คือ เพิ่มนิยาม "การจ้างงานรายเดือน" โดยลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ให้ได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วย ตามที่กฎหมายกำหนด 

3.เป็นการแก้ไขมาตรา 15 โดยการจ้างงานต้องมีความเท่าเทียม เปลี่ยนรายวันเป็นรายเดือน สำหรับสถานประกอบการที่มีทั้งการจ้างงานรายวันและรายเดือน ผู้จ้างจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมด โดยไม่เลือกปฏิบัติ

4.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปีอัตโนมัติ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายปี โดยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเงินเฟ้อ เช่น หากได้รับค่าแรง 400 บาท อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% จะได้รับค่าแรง 412 บาทอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอการประชุมไตรภาคี

5.ทำงาน 40 ชั่วโมง หรือ 5 วันต่อสัปดาห์ เวลาทำงานรวมทั้งสิ้นของลูกจ้างต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเกินต้องได้เงินค่าทำงานนอกเวลา (OT) และนายจ้างต้องจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 2 วัน

6.ลาหยุด 10 วันต่อปี สะสมได้ กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน

7.ลูกจ้างมีสิทธิลาไปดูแลบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดปีละไม่เกิน 15 วันทำงาน

8.สถานที่ทำงานต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการให้นมบุตร หรือบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงาน

9.นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียม ไม่กีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ ทั้งจากความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ความพิการ หรือความเห็นทางการเมือง

ต้องจับตากันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้จะเดินต่อไปได้ถึงไหน สภาจะให้ความเห็นชอบรับร่างฉบับดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ ต้องติดตาม