การยาสูบฯ ปรับแผนธุรกิจ วางเป้าปี 67 ปั้นกำไร 500 ล้านบาท

03 ก.พ. 2567 | 16:42 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2567 | 16:42 น.

การยาสูบฯ ปรับแผนธุรกิจใหม่ เน้นส่งออกใบยา-ศึกษาตลาดยาเส้น-เปิดประมูลอสังหาฯ หลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่กระทบรายได้ วางเป้าปี 67 กำไร 500 ล้านบาท

นายภูมิจิตต์  พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 ทิศทางการดำเนินงานของการยาสูบฯ จะปรับตัวเพื่อให้ผลประกอบการดีขึ้น วางเป้าหมายกำไรเติบโต 400-500 ล้านบาท จากในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา มีกำไร 200 ล้านบาททั้งนี้ ยอมรับว่า หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของการยาสูบฯ เป็นอย่างมาก จากในอดีตที่ผ่านมาการยาสูบฯ พึ่งพารายได้จากการจำหน่ายบุหรี่ 99% ขณะนี้ลดเหลือ 97%

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 นี้ การยาสูบฯ จะเร่งเดินหน้าธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการเน้นส่งออกใบยาสูบ โดยในปี 2566 ส่งออกประมาณ 300-400 ล้านบาท เพราะจากภูมิอากาศในต่างประเทศทำให้การผลิตใบยาทำได้น้อย ประเทศไทยจึงเริ่มผลักดันการส่งออก และจะส่งผลดีต่อชาวไร่ด้วย เพราะจะทำให้การยาสูบขอรับซื้อใบยาเพิ่ม

นอกจากนั้น จะศึกษาในแนวทางตลาดใหม่ เช่น ตลาดยาเส้น และจะมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของการยาสูบฯ เพื่อเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยการนำอสังหาริมทรัพย์ออกมาประมูล 3 แปลง ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา นักลงทุนยังไม่มีผู้สนใจ เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ของการยาสูบฯ กฎระเบียบยังดำเนินการไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จะทำงานร่วมหน่วยงานรัฐ เพื่อปรับกฎระเบียบน่าสนใจ ดึงดูดนักลงทุน

นายภูมิจิตต์  กล่าวว่า นอกจากการปรับภาษีบุหรี่มีผลต่อรายได้ของการยาสูบฯ แล้ว ผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตทำให้ปริมาณการสูบบุหรี่ถูกกฎหมายในประเทศไทยหดตัวลดลงเป็นอย่างมาก โดยในปี 2566 ภาษีทั้งหมดที่เก็บได้จากการขายบุหรี่อยู่ที่ 70,000 ล้านบาท แต่เป็นรายได้ที่ถูกบุหรี่หนีภาษีลิดรอนไปแล้วถึง 25% หรือคิดเป็นมูลค่าภาษีที่หายไปกว่า 23,000 ล้านบาท

“ที่ผ่านมา การลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. และบุหรี่หนีภาษี ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัวเข้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้  ซึ่งมีปริมาณการสูบบุหรี่เถื่อนมากกว่า 70% ของการสูบบุหรี่ทั้งหมดในพื้นที่ภาคใต้ จากข้อมูลการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมายในปี 2566 พบว่าแนวโน้มบุหรี่ที่มิได้เสียภาษีมีสัดส่วนสูงถึง 22.3% เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2565 ที่มีสัดส่วนเพียง 15.5%”

นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจุบันมีบุหรี่ที่มิได้เสียภาษีแพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็วเกือบ 2 เท่าตัว ภายในระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้นับตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ปีงบประมาณ 2561 จนถึงปีงบประมาณ 2566 ผลการปราบปรามพบคดีบุหรี่ผิดกฎหมายรวมทั้งสิ้น 50,963 คดี รวมของกลางทั้งสิ้น 33,490,246 ซอง ฉะนั้น ในการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่จึงอยากให้พิจารณาอย่างรอบด้าน ทุกๆ มิติ