ในขณะนี้กรุงเทพมหานคร เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานที่สาธารณะ พ.ศ. 2566 เพื่อจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในพื้นที่ กทม. ซึ่งจะเปิดรับฟังความเห็นไปจนถึงวันที่ 31 มกราคมนี้
"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปเปิดนิยามและดูความหมายของคำว่า "หาบเร่แผงลอย" ที่กำลังได้รับความสนใจกันอยู่ในขณะนี้
ตอนหนึ่งของรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในทางเท้าและที่สาธารณะตั้งขึ้นโดยสภากรุงเทพมหานคร ที่มี พล.ต.ท.ประสพโชค พร้อมมูล เป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ นั้น ได้ให้นิยามศัพท์เกี่ยวกับคำว่า "หาบเร่แผงลอย" เอาไว้ ดังนี้
"หาบเร่แผงลอย" ใช้เรียกการค้าข้างทางในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสองประเภท คือ การค้าที่เคลื่อนที่ได้ ซึ่งเรียกว่า "หาบเร่" และ การค้าที่อยู่กับที่ เรียกว่า "แผงลอย"
ในรายงานผลการศึกษาฉบับนี้ยังได้อ้างอิงข้อมูลจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ของคำว่า "หาบเร่" ซึ่งแสดงถึงนัยของการค้าบนบกและสะท้อนถึงการค้าแบบดั้งเดิม โดยให้ความหมายคำว่า "หาบ" ไว้ว่า "เอาของห้อยปลายคานสองข้างแล้วแบกกลางคานพาไป"
ส่วน "หาบเร่" คือ "ผู้ที่หาบของไปเร่ขาย" ซึ่งแม้ "หาบ" ยังปรากฎอยู่ในปัจจุบันแต่ก็มีเครื่องทุ่นแรงอื่น เช่น รถเข็น รถจักรยาน รวมไปถึงการใช้พาหนะ เช่น รถกระบะ ในการเร่ขายสินค้าซึ่งทุ่นแรงกว่ามากและทำให้บรรทุกสินค้าได้มากขึ้น
ส่วนคำว่า "แผงลอย" เป็นคำกลาง ๆ ไม่เจาะจง อธิบายเฉพาะการค้าข้างทาง โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายคำว่า "แผงลอย" ไว้ว่า
"ที่ที่จัดไว้ในถนนสาธารณะหรือที่สาธารณะ รวมถึงอาคาร แคร่ แท่น โต๊ะ แผง เสื่อ พื้นดิน เรือ หรือแพ สำหรับขายอาหาร น้ำแข็ง หรือสิ่งของอย่างอื่น ๆ "
หมายรวมถึงการค้าในลักษณะ วางแผง หรือตั้งแผงในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ตลาด ในลักษณะนี้ การขายของ "แบกะดิน" จึงถือเป็นการค้าแผงลอย การอยู่เป็นที่และการเคลื่อนที่ทำให้เงื่อนไขในการประกอบอาชีพแตกต่างกัน
การขายอาหารในที่ที่เป็นหลักแหล่งแน่นอนทำให้ทำเลการค้ามีความสำคัญ บริเวณที่มีประชากรหนาแน่นหรือมีผู้สัญจรไปมามากย่อมเป็นแหล่งทำการค้าที่สามารถทำรายได้ให้มากกว่า
ส่วนการค้าเร่ นั้น รายได้ที่เข้ามาขึ้นอยู่กับความคล่องตัวในการออกหาลูกค้าและการกำหนดเส้นทางการค้า แต่การเคลื่อนที่มีข้อจำกัดในด้านปริมาณของสินค้าที่จะนำติดตัวไป และผู้ค้ายังต้องมสุขภาพแข็งแรง จึงจะสามารถขายสินค้าในระยะไกลได้
การที่ผู้ค้าสองกลุ่มซึ่งมีรูปแบบการค้าที่แตกต่างกัน แต่ถูกเรียกรวมกันน่าจะมีที่มาจากการใช้คำว่า "หาบเร่แผงลอย" เป็นตัวแทนการค้าข้างทางและปฏิเสธความแตกต่างระหว่างการค้าทั้งสองประเภทนี้
หากพิจารณาจากเงื่อนไขด้านพื้นที่ในการประกอบอาชีพน่าจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านคุณลักษณะของผู้ค้า มุมมองของผู้ค้าต่ออาชีพของตน รวมทั้งความสามารถในการสะสมทุนหรือระดับความสำเร็จที่แตกต่างกัน