กปน.สั่งขึ้นค่าน้ำรอบ 25 ปี 600 โรงงานป่วน ต้นทุนจ่อพุ่ง

12 ม.ค. 2567 | 14:34 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2567 | 15:16 น.
2.2 k

600 โรงงานป่วน การประปานครหลวง ทำหนังสือถึง กนอ.ขอยกเลิกค่าน้ำอัตราพิเศษ 13 บาทต่อ ลบ.ม.ที่ใช้มา 25 ปี อ้างเป็นอัตราที่ให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย ยันเก็บสูงสุด 15.81 บาท ผู้ว่าฯ กนอ.วอนทบทวน ขอผู้ประกอบการมีเวลาตั้งตัว จับตาหากคุยไม่สำเร็จ ดันต้นทุนพุ่ง ราคาสินค้าขยับ

จากที่การประปานครหลวง (กปน.)ได้ให้สิทธิการคิดค่าน้ำประปาในอัตราพิเศษแบบขายเหมา (Bulk Sale) แก่ภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในอัตราลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ละ 13 บาท มาตั้งแต่ปี 2542 ล่าสุด กปน.ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อขอยกเลิกการให้สิทธิดังกล่าว และได้เรียกเก็บแบบใหม่ในอัตราการทั่วไปที่คิดแบบขั้นบันได ในอัตราสูงสุดที่ 15.81 บาทต่อลบ.ม. (เพิ่มขึ้น 21.6%) ซึ่งมีผลในใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น

กปน.สั่งขึ้นค่าน้ำรอบ 25 ปี 600 โรงงานป่วน ต้นทุนจ่อพุ่ง

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กนอ.ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการการประปานครหลวง (นายมานิต ปานเอม) ไปก่อนหน้านี้ เพื่อขอให้คงค่าน้ำประปาในอัตราขายเหมาที่ 13 บาทต่อ ลบ.ม.ออกไปก่อน เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนที่ทุกคนเพิ่งผ่านพ้นจากช่วงโควิด และพยายามเร่งหาลูกค้า เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่ได้ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจภายใน และสถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอน

 “หาก กปน.ยังยืนยันยกเลิกการคิดค่านำในอัตราพิเศษ และเดินหน้าเก็บค่าน้ำประปาในอัตราผู้ใช้น้ำประเภทที่ 2 (ค่าน้ำที่เรียกเก็บจากธุรกิจ ราชการ รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรม และอื่น ๆ) เป็นการทั่วไป ราคาค่าน้ำจะปรับขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อลูกบาศก์เมตรอย่างแน่นอน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในนิคมฯใช้น้ำเกิน 200 ลูกบาศก์เมตรที่ต้องเสียในอัตราก้าวหน้าที่ 15.81 บาท”

  • วอนขอทบทวนให้คงอัตราเดิม

อย่างไรก็ดีถือเป็นสิทธิ์ ของ กปน.ที่จะปรับเปลี่ยนการจัดเก็บค่าน้ำ โดย กปน.ให้เหตุผลว่าได้ให้ระเวลากับนิคมฯมาพอสมควรแล้ว และทาง กปน.ต้องมาจัดพอร์ตโฟลิโอในเรื่องรายรับ-รายจ่ายใหม่ จึงขอใช้สิทธิในการคิดค่าน้ำเหมือนกับที่ขายโดยทั่วไป

ทั้งนี้ กนอ.อยู่ระหว่างเร่งหาทางออกโดยพยายามขอเจรจากับทางกปน.อีกรอบ เพื่อให้คงอัตราค่าน้ำประปาในอัตราพิเศษออกไปก่อน หรือหากจะปรับขึ้นราคาจริง ๆ ขอให้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบ และเตรียมตัว เช่น ขอเวลาอีก 3 เดือน 6 เดือน และหากจะปรับขึ้นให้ปรับในอัตราแบบขั้นบันได เช่น ในปีแรกขึ้น 1 บาท ปีที่สอง 2 บาท ปีที่สาม 3 บาท เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาตัดสินใจและปรับตัว เพื่อลดภาระต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น และไม่ส่งผลต่อการผลักภาระเรื่องราคาสินค้าที่อาจปรับขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก

  • ขอให้คิดถึงวันวาน

นายววีริศ กล่าวอีกว่า หาก กปน.ยังคงยืนยันการยกเลิกให้สิทธิการคิดค่าน้ำประปาในอัตราขายเหมาที่ 13 บาท ต่อ ลบ.ม.จะส่งผลกระทบต่อ กนอ.ที่เป็นผู้ลงทุนในการบริหารจัดการเพื่อป้อนน้ำให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯที่ดำเนินการโดย กนอ. และอยู่ในเขตให้บริการของ กปน. เช่น นิคมฯลาดกระบัง (กรุงเทพฯ) นิคมฯบางชัน (กรุงเทพฯ) นิคมฯบางปู (สมุทรปราการ) โดยมีการลงทุนในหลายเรื่อง เช่น การวางท่อ และดูแลท่อน้ำ ค่าเพิ่มแรงดันน้ำ ค่าดูแลระบบ ค่าดูแลมิเตอร์ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งจากต้นทุนน้ำประปา ที่ 13 บาทต่อ ลบ.ม.ได้บวกเพิ่มอีก 7-8 บาท เป็นต้น ดังนั้นจึงให้กปน.ได้ทบทวน และคงค่าน้ำในอัตราพิเศษออกไปก่อน

 “เราพยายามจะคุยกับการประปานครนครหลวง เช่นอีกซัก 2-3 รอบ ซึ่งแนวทางเจรจาจะเป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งหากจะปรับขึ้นต้องประกาศให้ผู้ประกอบการได้รับทราบอย่างเป็นทางการ และมีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อไม่ให้กระทบมาก เพราะย้อนไปก่อนหน้านี้โรงงานในนิคมส่วนใหญ่ใช้น้ำบาดาล รวมถึงน้ำสำรองจากแหล่งต่าง ๆ ในการผลิต ซึ่งสิบกว่าปีก่อนการประปาฯ เพิ่งลงทุนวางโครงข่ายประปาเพื่อชุมชน ก็มาบอกว่าเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าขอให้ทางภาคอุตสาหกรรมไปใช้น้ำประปาด้วย โดยให้สิทธิคิดค่าน้ำในอัตราพิเศษแบบขายเหมา ถึงวันนี้การประปาฯมีความมั่นคงในระบบและในการจ่ายน้ำ ก็คิดที่จะขึ้นราคา ดังนั้นขอให้พิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบ ถึงผลกระทบที่จะตามมา”

  • จับตา 600 รง.ต้นทุนพุ่ง

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม กล่าวว่า เหตุผลที่ กปน.ขอยกเลิกการให้สิทธิคิดค่าน้ำประปาแก่ผู้ใช้น้ำของ กนอ.ในอัตราขายเหมา ในหนังสือที่ส่งถึง กนอ.ระบุว่า ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด กปน.มีความมุ่งหมายในการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้มีรายได้น้อย และที่พักอาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลให้ได้รับความเท่าเทียมในการเข้าถึงสาธารณณูปโภคขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งลักษณะการใช้น้ำของผู้ประกอบการในนิคมฯไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ กปน.จึงขอยืนยันที่จะคิดค่าน้ำของ กนอ.ในอัตราทั่วไป ตั้งแต่รอบการใช้น้ำของเดือนพฤศจิกายน 2566 (มีผลในใบแจงหนี้เดือน ธ.ค. 2566)

 “หากมีการปรับขึ้นค่าน้ำ ผลกระทบจะตามมาอย่างแน่นอน คือต้นทุนของผู้ประกอบการ เช่น อย่างน้อยใน 3 นิคมฯที่กนอ.เป็นผู้ดำเนินการได้แก่ นิคมฯลาดกระบัง บางปู และบางชัน ที่มีผู้ประกอบการรวมเกือบ 600 โรง จะมีต้นทุนค่าน้ำที่สูงขึ้น เพราะสัดส่วนกว่า 50% เป็นผู้ประกอบการสินค้าอาหาร และสินค้าอุปโภค-บริโภคอื่น ๆ ที่ต้องใช้น้ำในขั้นตอนการผลิตมาก ซึ่งจากที่ถูกปรับเปลี่ยนการคิดค่าน้ำจากอัตราพิเศษมาเป็นอัตราก้าวหน้า(ใช้น้ำมาก เสียค่าน้ำมาก) เบื้องต้นทราบมาว่า ทางกัสโก้ (บริษัทลูกของ กนอ.ที่ดูแลบริหารจัดการระบบปฏิบัติการน้ำ สาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ) ต้องแบกรับภาระค่าน้ำที่เพิ่มขึ้นแทนผู้ประกอบการจากถูกเรียกเก็บจากการประปาฯ งวดเดือนธันวาคมแล้วกว่า 2 ล้านบาท”

อนึ่ง โรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่อาจได้รับกระทบจากต้นทุนค่าน้ำประปาที่จะปรับเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยที่ตั้งอยู่ในนิคมฯบางชัน เช่น บริษัท สยามร่วมมิตร จำกัด (บจก.) ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวเกรียบฮานามิ สแน็คแจ๊ก, บจก.วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร (บะหมี่ยำยำ), บจก.เฮลซ์ เทรดดิ้ง(ประเทศไทย)(น้ำหวานเฮลซ์บลูบอย), บจก.เนสท์เล่(ไทย)(ไอศกรีม), บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ (ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์) เป็นต้น

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3957 วันที่ 14 -17 มกราคม พ.ศ. 2567