SCB EIC ประเมิน"กลุ่มคนรายได้น้อย" ยังต้องจมกองหนี้อีกนาน จากรายได้โตต่ำ

12 ม.ค. 2567 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2567 | 08:39 น.

SCB EIC ประเมิน คนไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมด้านรายได้จากที่ฟื้นช้าและไม่ทั่วถึง สะท้อนปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสม กังวลกลุ่มเปราะบาง แนวโน้มยังต้องเผชิญหนี้สินอีกนาน แนะรัฐเร่งดำเนิน 2 มาตรการ ลดค่าครองชีพ มุ่งเพิ่มทักษะแรงงาน สร้างความแข็งแกร่งการเงินส่วนบุคคล

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยแพร่บทความ "เมื่อคนไทย (ส่วนใหญ่) ยังไม่พร้อม…การเตรียมความพร้อมจึงจำเป็น" ความไม่พร้อมด้านรายได้ของคนไทยเกิดขึ้นในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ สาเหตุหลักมาจากผลิตภาพแรงงานที่ปรับลดลง

ไทยเป็นประเทศที่ฟื้นจากวิกฤตโควิดช้าติดกลุ่มรั้งท้ายในโลก

กิจกรรมเศรษฐกิจไทยเพิ่งกลับไปแตะระดับก่อนโควิดเมื่อสิ้นปี 2566 นับว่าไทยเป็นประเทศที่ฟื้นจากวิกฤตโควิดช้าติดกลุ่มรั้งท้ายในโลก มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตช้าตามระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ลดต่ำลงหลังโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาโดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเร่งสูงขึ้นมากตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ติดอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และติดอันดับ 7 ของโลก (ข้อมูลธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ณ ไตรมาส 2 ปี 2566) สาเหตุหลักเกิดจากความไม่พร้อมด้านรายได้ของคนไทยที่ฟื้นช้าและไม่ทั่วถึง (K-Shape recovery) คนกลุ่มบนจำนวนน้อยรายได้ฟื้นเร็วและโตดี ในขณะที่คนกลุ่มล่างจำนวนมากยังฟื้นช้า โตต่ำ และกำลังเผชิญปัญหาทางการเงินในทุกมิติ ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย ภาระหนี้ และเงินออม โดยกลุ่มครัวเรือนที่รายได้ฟื้นช้าไม่พอรายจ่าย ส่วนใหญ่ทำงานในภาคการผลิตมูลค่าไม่สูง คือ ภาคเกษตร (50%) และภาคบริการ (30%) มีหัวหน้าครัวเรือนอายุมากคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% และเรียนจบต่ำกว่าชั้นมัธยมคิดเป็นสัดส่วนถึง 75%

กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยมีความไม่พร้อมด้านรายได้

ความไม่พร้อมด้านรายได้ของคนไทยเกิดขึ้นในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ สาเหตุหลักของความไม่พร้อมด้านรายได้ของคนไทยมาจากผลิตภาพแรงงานที่ปรับลดลงเกือบทุกสาขาการผลิตและยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด โดยแรงงานภาคเกษตรมีผลิตภาพต่ำสุด นอกจากนี้ สัดส่วนแรงงานนอกระบบของไทยยังสูงมากถึง 51% (ปี 2565) ส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร ภาคบริการและการค้า ซึ่งมีผลิตภาพไม่สูง

SCB EIC ประเมินกลุ่มคนรายได้น้อยจะเผชิญปัญหาด้านการเงินอีกนาน
 
โดยจากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2566 (สำรวจ ณ 20 ต.ค. - 3 พ.ย 2566 จำนวนตัวอย่าง 2,189 คน) พบว่า

กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยยังมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่มาก และมีแนวโน้มเผชิญปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายสูงสุดถึง 73% และส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้ราว 70% มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต อีกทั้ง แนวโน้มข้างหน้ามีความจำเป็นต้องกู้มากขึ้น ส่วนใหญ่จะพึ่งพาเงินกู้นอกระบบมากขึ้น และการกู้ไปชำระหนี้กลายเป็นวัตถุประสงค์หลักของการกู้เงิน

กลุ่มคนรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน กว่าครึ่งหนึ่งประสบปัญหาค้างชำระหนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลจากทั้งรายได้ลดลงมากและค่าใช้จ่ายของครัวเรือนสูงขึ้น คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าคนกลุ่มอื่น ส่งผลให้กันชนทางการเงินของกลุ่มคนรายได้น้อยลดลงมากตามการออมที่ลดลงตั้งแต่เกิดโควิด โดยราว 70% ของคนกลุ่มนี้ไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน หรือสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 1-3 เดือนหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นทำให้ขาดรายได้ (เช่น เจ็บป่วย ออกจากงาน) สะท้อนความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนในการรองรับปัจจัยไม่คาดคิดในอนาคต

พฤติกรรมการชำระหนี้ของกลุ่มคนรายได้น้อยไม่ค่อยดีนัก โดยกว่าครึ่งมีพฤติกรรมการจ่ายชำระหนี้แค่ขั้นต่ำ หรือจ่ายหนี้ไม่เต็มจำนวน หรือผิดนัดชำระหนี้เป็นบางครั้ง นอกจากนี้ กลุ่มคนรายได้น้อยยังมองว่าสถานการณ์หนี้สินของตนมีแนวโน้มปรับแย่ลงมากกว่าปรับดีขึ้นในช่วง 1 ปีข้างหน้า

SCB EIC ประเมินว่ากลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนจะยังมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายนานกว่า 3 ปี โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ไม่ถึง 7,000 บาทต่อเดือนที่จะเผชิญปัญหานี้ต่อเนื่องนานยิ่งกว่านั้น เป็นสัญญาณว่ากลุ่มครัวเรือนระดับล่างยังเปราะบางและมีแนวโน้มจะเป็นหนี้อีกนาน ส่งสัญญาณว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนยังน่ากังวลในอนาคต

นโยบายเตรียมความพร้อมจึงจำเป็นต่อการฟื้นตัวด้านรายได้ของคนไทยและเศรษฐกิจไทยได้อย่างทั่วถึง SCB EIC มองหากเศรษฐกิจไทยจะเติบโตสูงขึ้นได้อย่างยั่งยืน และมีระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่กลับมาสูงขึ้นได้อีกครั้ง จำเป็นต้องอาศัยชุดนโยบายระยะสั้นเพื่อช่วยกลุ่มคนเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัว ควบคู่กับชุดนโยบายระยะยาวเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้คนไทยและป้องกันการกลับมาเป็นหนี้

นโยบายระยะสั้น ลดค่าครองชีพ เสริมสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อยที่ยังเปราะบาง (Targeted) มีความจำเป็น เพื่อให้สามารถมีคุณภาพชีวิตและผ่านพ้นผลกระทบจากวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งเป็นมิติทางสังคมเพิ่มเติมจากมิติความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเจ้าหนี้ในระบบในการให้คำปรึกษาแก้หนี้ให้ลูกหนี้อย่างเหมาะสม นำระบบการให้สินเชื่อที่คิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกหนี้แต่ละราย (Risk-based pricing) มาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ และมีการผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลให้สถาบันการเงินและ Non-bank สามารถปล่อยสินเชื่อครัวเรือนกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น

นโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มรายได้และสวัสดิการให้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ปรับทักษะแรงงาน ลงทุนการศึกษา และสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินส่วนบุคคลและครัวเรือน รวมถึงชุดนโยบายระยะยาวด้านอื่น ๆ เช่น 1) การผลักดันให้ธุรกิจ SMEs และครัวเรือนประกอบอาชีพอิสระสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่มีต้นทุนการเงินเหมาะสมได้มากขึ้น 2) การเร่งดึงดูด FDI เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและบริการใหม่ 3) การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยกระดับการแข่งขันของประเทศ