ภาคอุตฯสะดุ้ง "ครม.ไฟเขียว" เก็บค่าใช้น้ำสาธารณะนอกเขตชลประทาน

09 ม.ค. 2567 | 14:29 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2567 | 15:25 น.

ครม.ไฟเขียว ร่างกฎกระทรวง เก็บค่าใช้น้ำอุตสาหกรรม-ปริมาณมากในเขตนอกพื้นที่ชลประทาน สภาอุตสาหกรรม ค้าน เรื่องใหม่ ตั้งตัวไม่ทัน ขอเวลาเตรียมตัว 2 ปี

วันนี้ (9 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดสรรน้ำ การใช้น้ำ จำนวน 3 ฉบับ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ

สืบเนื่องจากปัจจุบันการขออนุญาตเก็บค่าใช้น้ำสาธารณะเฉพาะน้ำที่มาจากชลประทาน สำหรับการใช้น้ำนอกเหนือพื้นที่เขตชลประทาน เช่น บึง ลุ่มน้ำ จะไม่มีการจัดเก็บค่าใช้น้ำ หรือ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ รวมถึงเกิดความลักลั่นการใช้น้ำสาธารณะ มีการจัดเก็บค่าใช้น้ำที่แตกต่างการ เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม 

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ฉบับแรก ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท เนื่องจากมีการใช้น้ำที่ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มประเภทที่ 1 การใช้น้ำสาธารณะเพื่อดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์ กลุ่มประเภทที่ 2  การใช้น้ำสาธารณะเพื่ออุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้า การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการประปา และกลุ่มประเภทที่ 3 การใช้น้ำสาธารณะในปริมาณมาก และการใช้น้ำที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบตามลุ่มน้ำครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง 

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับที่สอง การกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำกลุ่มประเภทที่ 2 และกลุ่มประเภทที่ 3 โดยไม่เกินอัตรากำหนดในบัญชีแนบท้ายพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2561 

ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการลดหย่อน ยกเว้นค่าธรรมเนียม เช่น การใช้น้ำสาธารณะในการประกอบธุรกิจในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากรัฐ จะได้รับการยกเว้น หรือ การผลิตน้ำดื่มบริโภคในโรงเรียน การใช้น้ำในโรงพยาบาลจะได้รับยกเว้น โดยผู้ใช้น้ำอยู่เดิมจะต้องยื่นคำขอรับในอนุญาตภายใน 60 วัน นับตั้งแต่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ฉบับที่สาม ร่างกฎกระทรวงการกำหนดหลักเกณฑ์ การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 สาระสำคัญ เป็นการคำนวณจากปัจจัยต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายและต้นทุนการใช้น้ำ ต้นทุนการอุปทานน้ำ เงินสำรองสำหรับการบรรเทาวิกฤตน้ำเมื่อเกิดขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเดียวกัน ประสิทธิภาพการส่งน้ำ ทั้งนี้ การบังคับใช้ตั้งแต่ร่างกฎกระทรวงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วครบ 90 วัน  

นางรัดเกล้ากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นว่า ระยะเวลาการบังคับใช้ควรจะเป็น 2 ปี หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่บีโอไอมีข้อเสนอแนะว่า ควรเปิดเผยข้อมูลหากต้องขออนุญาตหรือจัดเก็บค่าใช้จ่ายเป็นใครบ้าง