คลังขึ้นภาษีโซจู หั่นภาษีไวน์-สถานบันเทิง ดันไทยเป็นฮับท่องเที่ยว

02 ม.ค. 2567 | 17:11 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2567 | 17:12 น.

คลังดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ยกเลิกเก็บภาษีไวน์หรูนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต ไวน์-สาโท ส่วน “โซจู” ปรับขึ้นภาษี พร้อมลดภาษีสถานบันเทิงชั่วคราว หนุนต่างชาติใช้จ่ายเพิ่ม 2.9 พันล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า  ที่ประชุมคระรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 2 ม.ค.67 มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวและกระตุ้นเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก ได้แก่  การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดภาษีสถานบันเทิง  โดยมีการเพิ่มพิกัดภาษีใหม่ 

  • สุราแช่พื้นบ้าน เช่น อุ กระแช่ สาโท ที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี จากเดิมเก็บภาษีตามมูลค่า 10% ลดเหลือ 0% ขณะที่ภาษีปริมาณเก็บเท่าเดิม 150 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์  
  • สุราแช่ที่มีสุรากลั่นผสม เช่น โซจู ที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี ให้เก็บภาษีตามมูลค่าที่ 10% เท่าเดิม แต่ขึ้นภาษีปริมาณจากเดิม 150 บาทต่อลิตร เป็น 255 บาทต่อลิตร

นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงภาษีให้เก็บอัตราเดียว เพื่อสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ได้แก่

  • ไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น จากเดิมเก็บภาษีมูลค่าราคาเกิน 1,000 บาท ที่ 10% และสำหรับไวน์ที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท เก็บที่ 0% ปรับเป็นเหลือภาษีเท่ากันที่ 5% ปรับลดเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์จาก 1,500 บาทต่อลิตร เหลือ 1,000 บาทต่อลิตร 
  • ภาษีฟรุ๊ตไวน์ หรือสุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น จากเดิมเก็บภาษีมูลค่าราคาเกิน 1,000 บาท ที่ 10% และไวน์ที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท ที่ 0% ลดเหลือ 0% ทั้งหมด และการเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ยังเท่าเดิม 900 บาทต่อลิตร  

ขณะเดียวกัน ได้ปรับปรุงภาษีสถานบริการ ซึ่งประกอบกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ เช่น ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ จากภาษีอัตรา 10% ของรายรับ ลดเหลือ 5% มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดถึง 31 ธ.ค. 67 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ 

นายลวรณกล่าวว่า ครม. ยังได้เห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างภาษีนำเข้าสินค้าไวน์  โดยยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ในประเภทพิกัด 22.04 และ 22.05 รวม 21 รายการ จากเดิม 54-60% ให้เหลือ 0% ทั้งหมด เพื่อต้องการขยายฐานการบริโภคและลดการลักลอบหลีกเลี่ยง

ซึ่งการลดภาษีดังกล่าว จะทำให้กรมศุลกากร มีรายได้ลดลง 451 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางไวน์ได้ในอนาคต  ที่สำคัญขณะนี้ไทยกำลังมีการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งจะต้องมีการลดภาษีเหลือ 0% อยู่แล้วในอนาคต

“การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและศุลกากรครั้งนี้  จะเร่งให้มีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค.67 จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย และไม่กระทบต่อภาพรวมของการเก็บภาษี โดยจะทำให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิ 401ล้านบาทต่อปี และจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.0073% เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 2,900 ล้านบาท” 

นอกจากนี้ ภาครัฐยังจะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เพิ่มเติมในอนาคตจากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยและการเพิ่มขึ้นของรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร ธุรกิจบริการ สถานบันเทิง โรงแรมที่พัก ผู้ให้บริการขนส่ง สายการบินเป็นต้น และส่งผลให้มีการลงทุนขยายกิจการและการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อไปส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น

ส่วนเรื่องการยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้านั้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต 3 ราย ซึ่งกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือร่วมกัน เพื่อสรุปแนวทางในการดำเนินการอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การที่หารือกันในเบื้องต้นก็ได้ข้อสรุปกันด้วยดี