ผ่าโครงสร้างบอร์ดประกันสังคมคุมขุมทรัพย์ 2.4 ล้านล้าน อำนาจครอบจักรวาล

26 ธ.ค. 2566 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2566 | 11:48 น.

ผ่าโครงสร้างบอร์ดประกันสังคม ตัวแทน ภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายละ 7 คน คุมอำนาจการบริหารงานกองทุนประกันสังคมแบบครอบจักรวาล คุมขุมทรัพย์ 2.4 ล้านล้านบาท

การเลือกตั้ง "บอร์ดประกันสังคม" ในส่วนตัวแทนนายจ้างและตัวแทนลูกจ้าง ฝ่ายละ 7 คน ถือเป็น "ครั้งแรก" ในรอบ 33 ปี ที่มาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตน เข้ามาทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการดูแลจัดการและบริหารกองทุนประกันสังคม ที่ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านบาท

ทว่าการรุกคืบทางการเมืองของ "ทีมประกันสังคมก้าวหน้า" เกือบจะ "กินรวบ" ฝ่ายตัวแทนลูกจ้าง โดยกวาดที่นั่งใน "บอร์ดประกันสังคม" ไปถึง 7 เก้าอี้ จากทั้งหมด 8 เก้าอี้ ยิ่งผ่าโครงสร้าง หน้าที่-อำนาจของ "บอร์ดประกันสังคม" จะพบว่า "อำนาจครอบจักรวาล"

“บอร์ดประกันสังคม” ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 ฉบับอัพเดทล่าสุด มาตรา 8 ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ 7 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 7 คน  และ  ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน 7 คน

บอร์ดประกันสังคมในส่วนของผู้แทนภาครัฐ 7 คน

  1. ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ 
  2. ผู้แทนกระทรวงการคลัง
  3. ผู้แทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  4. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย 
  5. ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 
  6. ผู้แทนสำนักงบประมาณ
  7. เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นกรรมการ และเลขานุการ 

ส่วนผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 7 คน ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน 7 คน เป็นกรรมการ เบื้องต้นจากรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ดประกันสังคม อย่างไม่เป็นทางการ มีรายชื่อดังนี้

ผู้แทนนายจ้าง 

  1.  ดร.มนตรี ฐิรโฆไท
  2.  นางวิภาพรรณ  มาประเสริฐ
  3.  นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง
  4.  นายสมพงศ์ นครศรี
  5.  นายสุวิทย์ ศรีเพียร 
  6.  นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์
  7.  นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล  

ผู้แทนลูกจ้าง

  1. รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
  2. นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน
  3. นายชลิต รัษฐปานะ
  4. นายศิววงศ์ สุขทวี
  5. นางสาวนลัทพร ไกรฤกษ์
  6. นางลักษมี สุวรรณภักดี
  7. นายปรารถนา โพธิ์ดี

 “บอร์ดประกันสังคม” มีหน้าที่-อำนาจ ตามมาตรา 9 ดังนี้  

  • เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม
  • พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ 
  • วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน 
  • วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน
  • พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกันสังคมตามพระราชบัญญัตินี้ 
  • ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน 
  • ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

คณะกรรมการยังมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 7 คน เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ 

ทั้งนี้ คณะกรรมการ-ที่ปรึกษาที่คณะกรรมการแต่งตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะแต่งตั้งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ 

กรรมการคนหนึ่งมี 1 เสียงในการลงคะแนน โดยการลงมติในที่ประชุมให้ถือ “เสียงข้างมาก” ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง เป็นเสียงชี้ขาด