UTA กางไทม์ไลน์ ตอกเข็มอู่ตะเภาปี67 ปั้นมหานครการบิน 24ชั่วโมง

20 ธ.ค. 2566 | 16:29 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2566 | 11:58 น.
586

UTA กางไทม์ไลน์ ตอกเข็มอู่ตะเภาปี67 ปั้นมหานครการบิน 24ชั่วโมง โดยปี2567 จี้รัฐเร่งแผนสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อมการเดินทางครบวงจร

 

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 6,500ไร่ ถือเป็นหนึ่งในระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี ที่รัฐบาลให้ความสำคัญใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แม่เหล็กดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่

มีหมุดหมายยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

ที่สำคัญโครงการนี้ยังเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ ทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมืองโดยรอบสนามบิน

รัศมี จากพัทยาถึงระยอง ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก เชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูรประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนลเอวิเอชั่นจำกัด  หรือ UTA บรรยายในหัวข้อ Next Step ลงทุนไทย ในงานสัมมนา GO THAILAND 2024 GREEN ECONOMY LANDBRIDGEโอกาสทอง? จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท เมื่อวันที่ 20ธันวาคม2566ว่า   การลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  เกิดจากการรวมกลุ่มมาจากเอกชน3 บริษัท ได้แก่ บีทีเอสกรุ๊ป การบินกรุงเทพ (สายการบินบางกอกแอร์เวย์)  และ บมจ.ซิโน-ไทย  ได้รับสัมปทานและตั้งเป็น บริษัท UTA

วีรวัฒน์ ปัณทวังกูร

มีภารกิจสำคัญในการก่อสร้างสนามบิน และเมืองการบิน ภาคตะวันออกที่มีพื้นที่ติดกับสนามบินอู่ตะเภา6,500 ไร่ เป็นฮับการบินให้บริการผู้โดยสารและขนส่งสินค้ากระจายทั่วโลก  ยกระดับการพัฒนาเป็นมหานครการบิน 24ชั่วโมงรองรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกและดึงคนเข้าพื้นที่ใช้ชีวิตทำธุรกิจในเมืองดังกล่าว ซึ่งอาจได้เปรียบ สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิที่มีเวลาปิด-เปิดให้บริการ เนื่องจากตั้งอยู่กลางชุมชนใหญ่

สาเหตุที่เมืองการบิน อู่ตะเภา สามารถเปิดให้บริการ24ชั่วโมง ทั้งที่ตั้งอยู่เมืองชายขอบ เพราะอีอีซี มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน  ที่ช่วยร่นระยะเวลาเดินทาง จาก2ชั่วโมงโดยรถยนต์ ให้เหลือ เพียง 1ชั่วโมง เทียบเท่ากับการเดินทางในกรุงเทพมหานคร รวมถึงที่ตั้งของเมืองการบินอยู่ติดกับอ่าวไทยไม่มีชุมชนหนาแน่น  

ดังนั้น ต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงฯดังกล่าวให้เดินหน้าก่อสร้างไปพร้อมกันเพราะ มองว่าหาก โครงการรถไฟความเร็วสูงล่าช้า จะดึงอู่ตะเภาให้ช้าไปตามด้วย หากรถไฟความเร็วสูง ไม่เกิด เชื่อว่าเมืองการบินอู่ตะเภาจะมีอุปสรรค  และอาจจะทบ แผนดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่อีอีซี เพราะจุดขายรัฐบาลคือโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย  มองว่า ไม่สามารถขาดโครงการใดโครงการหนี่งได้

ขณะความคืบหน้าโครงการ ต้องยอมรับว่า มีแผนเข้าพื้นที่เมื่อ2ปีก่อนแต่เกิดสถานการณ์โควิด โดยปี2567ประมาณช่วงครึ่งหลัง จะได้เห็นการตอกเสาเข็ม ต้นแรก หลังผ่านการทำ  EHIA (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) และคาดว่าภาครัฐจะออกหนังสือการส่งมอบพื้นที่ได้เร็วๆนี้ รวมถึงการเปิดประมูลทางวิ่งที่2 หรือรันเวย์2 ไม่เกินสิ้นปีนี้ ส่วนการหารือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ มั่นใจว่าจะได้รับในเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ ปีหน้า

ในตอนท้าย นายวีรวัฒน์  สรุปว่า หากต้องการดึงการลงทุนในพื้นที่อีอีซี  ต้องประสานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน ให้ก่อสร้างไปพร้อมกัน

 นี่คือจิ๊กซอว์ ตัวสุดท้ายเติมเต็มการขับเคลื่อนโครงการอีอีซีของภาครัฐ ที่น่าจับตายิ่ง