เบื้องลึกค่าอุปถัมภ์ การเมืองหลังม่านเวทีประกวดข้าวโลก

18 ธ.ค. 2566 | 01:38 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2566 | 11:18 น.
548

เปิดเบื้องลึก เบื้องหลังเวทีข้าวโลก หลังไทยไม่ส่งพันธุ์ข้าวเข้าประกวดในรายการ The World's Best Rice 2023 ที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยให้เหตุผลเพราะ “ไม่มีมาตรฐาน”

เจ้าของแชมป์พันธุ์ข้าวที่ดีที่สุด 7 สมัย ตกบัลลังก์อันดับ 1 ข้าวโลก ในปี 2023 ให้กับพันธุ์ข้าว ST25 จากประเทศเวียดนาม และเป็น 2 ปีติดต่อกันที่ "ข้าวหอมมะลิ" ของไทยไม่มีชื่อชนะเลิศบนเวทีข้าวโลก หลังจากพันธุ์ข้าว "ผกาลำดวน" จากประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชาได้รับชัยชนะในปี 2565 

“ดร.สมพร อิศวิลานนท์” นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงคำครหาการเมืองในวงการข้าว จนกลายเป็นที่มาของการ "บอยคอต" ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยไม่ส่งพันธุ์ข้าวเข้าเวทีประกวดข้าวโลกในปี 2023 ว่า การประกวดข้าวโลกมันมี commercial base ของมันอยู่ คนที่จัดงานนี้ คือ The rice trader หรือ TRT ซึ่งจะมี hidden agenda อยู่เหมือนกันในแง่ที่ว่าจะให้รางวัลใครต่อใคร

ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ

"ผมเคยไปร่วมงานนี้ 3-4 ครั้ง จะเห็นภาพว่า มันมี Politic ข้างในอยู่เหมือนกัน เวลาเขาชิม เขาใช้ Consumer test ใช้เชฟชิมเท่านั้นเอง จริง ๆ แล้วข้าว best rice award ควรต้องดูถึงในแง่ของ physical และ chemical เรื่องของ amylose สาร 2AP สารความหอม วิตามิน ถึงจะบอกได้ว่าเป็น best rice แต่สิ่งที่ TRT ทำ เพียงแค่การใช้ chef มา test เพราะฉะนั้น bias ได้”

ส่วนการเมืองใน “วงข้าวโลก” เกิดขึ้นมานานแล้วหรือยัง “ดร.สมพร” บอกว่า ตอนแรก ๆ Politic อาจจะน้อย แต่ระยะหลัง ๆ มีการล็อบบี้กันในกลุ่มผู้ส่งออกข้าวของแต่ละประเทศ  ใครให้เงินเป็นเจ้าภาพ สมมุติสมาคมผู้ส่งออกไทยเป็นเจ้าภาพ หรือร่วมเป็นเจ้าภาพก็จะจ่ายเงินไปในส่วนหนึ่ง พวกสมาคมส่งออกทั้งหลายก็จะมีเงินที่เรียกว่าเป็น “ค่าอุปถัมภ์” ในรายการอยู่ส่วนหนึ่ง

ดร.สมพร ระบุว่า ระยะหลังเวียดนามมีนโยบายเชิงรุกได้ดีมาก เพราะบริษัทส่งออกข้าวมีฐานะการเงินที่ดี และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เขาก็มีโอกาสที่ล็อบบี้ให้ไปในทิศทางอย่างไรก็ได้ แต่เราจะไปบอกว่า ข้าวเวียดนามไม่ดี ไม่ควรจะได้รางวัลก็ไม่ถูก เพราะเขาพัฒนาข้าวมาจนอยู่ในเกรดที่คิดว่าวันนี้ตลาดให้ความสำคัญกับเวียดนาม

“สิ่งที่เรามาโวยวายวันนี้ ผมคิดว่า สมมุติถ้าเราส่งเข้าประกวด ผมก็ไม่แน่ใจว่า เราจะปราชัยหรือเราจะได้ชัย" 

ดร.สมพร มองว่า การปลูกข้าวของเวียดนามในวันนี้เขาทำอย่างประณีต ปลูกแบบข้าวอินทรีย์ เขาบอกว่าต่อไปนี้จะตีตลาดยุโรป เพราะเขาได้เอฟทีเอส่งออกไปตลาดยุโรป ข้าวเหล่านี้เป็นข้าวคุณภาพ การชนะรางวัลเป็นเหมือนใบรับรอง ส่วนหนึ่งที่ทำให้ข้าวของเวียดนามเข้าไปในตลาดได้ และตีตราว่าเขาชนะการประกวดในปีนั้น ๆ มา เป็นการดึงดูดผู้บริโภค มีความน่าเชื่อถือที่มากกว่าข้าวที่ไม่มี certificate ออกมา

“เราจะไปโวยวายว่า เป็น Politic 100 % ก็ไม่ถูก สิ่งที่เราต้องคิดวันนี้ คือ เราจะปรับปรุงตัวเองอย่างไร เราจะดูแลภาคการผลิตข้าวอย่างไร เราจะดูแลเกษตรกรที่ปลูกข้าวอย่างไรให้เขามีฐานะที่ดีขึ้น อันนี้คือหัวข้อที่รัฐบาลจะต้องมานั่ง Re thinking ในส่วนนี้ คิดใหม่ ทำใหม่” ดร.สมพรระบุ

การที่พันธุ์ข้าวของไทยไม่ติดอยู่ในอันดับข้าวที่ดีที่สุดของโลก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน “ดร.สมพร” บอกว่า วันนี้อาจจะประเมินไม่ได้ แต่ในแง่ของการตลาด เวียดนามได้ชัยชนะไปแล้ว เขาปักธงไปแล้ว ขึ้นอยู่กับในวันข้างหน้าประเทศคู่ค้าที่จะซื้อข้าว ST25 จากเวียดนาม เพราะข้าว ST25 เป็น best rice award 2023 ซึ่งเวียดนามก็แสตมป์ไว้ที่ถุง ก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เขาส่งออกได้มากขึ้น 

“เมื่อเวียดนามส่งออกข้าวพื้นนุ่มได้มากขึ้น เราก็ต้องส่งออกได้ลดลง เป็นการช่วงชิงตลาดกัน ตลาดข้าวหอมมะลิมีอยู่จำกัด 6 ล้านตันในตลาดโลก เวียดนาม 3 ล้านตัน เรา 2 ล้านตัน กัมพูชา 1 ล้านตัน”

อย่างไรก็ตามไทยยังมีโอกาสที่จะช่วงชิงตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิเป็นอันดับ 1 ได้ แต่ต้องกลับมาดูตัวเองว่า วันนี้เราทำอะไรไม่ดีบ้าง และถ้าจะปรับตัวเองที่จะทำให้เราปักธงในตลาดเวทีของข้าวที่คุณภาพ best award เราต้องทำอย่างไรบ้าง 

“ผมคิดว่า ข้าวหอมมะลิ โดย purity ของมันแล้ว ยังเป็น 1 อยู่ เพียงแต่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ความเป็น 1 ของข้าวหอมมะลิให้เป็นสาวสวยที่อยู่ในทุ่งให้ได้ตลอดไป เป็นยุทธศาสตร์ของไทยว่าจะทำอย่างไร”ดร.สมพรกล่าว