มหากาพย์ "กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง" ก่อนพับแผนเก็บเข้าลิ้นชัก

04 ธ.ค. 2566 | 16:51 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2566 | 17:48 น.

มหากาพย์ "กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง" ก่อนถูกพับแผน หลังรัฐบาลเศรษฐา ยกคณะประชุม ครม.สัญจร หนองบัวลำภู ล่าสุดยังไม่มีข้อเสนอชงครม.ของบกลาง 28 ล้านบาท เพื่อจ้างออกแบบก่อสร้าง สุดท้ายต้องพับเก็บเข้าลิ้นชักอีกครั้ง

และแล้วแผนการของบกลางฯ รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 28 ล้านบาท จากครม.สัญจร จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อจ้างออกแบบก่อสร้างโครงการ "กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง" จังหวัดเลย มีอันต้องพับเก็บเข้าลิ้นชัก

เมื่อ “ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 1/2566 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 (หนองคาย เลย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี) วันที่ 4 ธันวาคม 2566 ที่จังหวัดหนองบัวลำภู  ว่า “ไม่มีเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมครม. ให้เอาไว้รอบหน้า” 

ที่มา-ที่ไปเป็นการเสนอขึ้นมาจากการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในประเด็นและวาระการพัฒนาจังหวัด ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน หนึ่งในนั้นมี “โครงการจ้างสำรวจออกแบบก่อสร้างโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย” อยู่ในนั้น 

ย้อนกลับไปรัฐบาลที่ผ่านมาได้ออกมติครม.ให้ศึกษาความเป็นไปได้การสร้างกระเช้าไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภูกระดึง จังหวัดเลย ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ถูก “พับแผน” ก่อนยุครัฐบาลทักษิณในปี 2547 ที่เดินทางไปตรวจราชการจังหวัดเลย และสั่งการให้ทำการศึกษา โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม ไม่ตัดต้นไม้ !!!

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ไทม์ไลน์โครงการ "กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง" จังหวัดเลย 

  • วันที่ 17 กันยายน 2539 มติครม.รับทราบรายการสถานการณ์ท่องเที่ยวปี 2539 ตามที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสนอกับให้รับความเห็นของครม.เกี่ยวกับการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ ภูกระดึง และเกาะภูเก็ต โดยการสร้างกระเช้าไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางหรือชมทิวทัศน์ไปพิจารณา แล้วรายงานครม.ทราบภายใน 30 วัน
  • วันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 มติครม.รับทราบรายงานการพิจารณาสร้างกระเช้าไฟฟ้าในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอ
  • วันที่ 2 ธันวาคม 2539 มติครม.รับทราบการศึกษาทบทวนมติครม.ที่มีความอ่อนไหวในทางการเมือง โดยเห็นชอบการศึกษาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องสำคัญซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน รวมทั้งเรื่องที่มีความอ่อนไหวในทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน 

 

มหากาพย์ \"กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง\" ก่อนพับแผนเก็บเข้าลิ้นชัก

 

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 มติครม.รับทราบผลการประชุมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ณ จังหวัดอุดรธานี โดยมีรายละเอียดข้อเสนอเพื่อพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เกี่ยวกับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวทุกประเภท ทุกวัย โดยเฉพาะผู้อาวุโส และผู้พิการ สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวได้สะดวก และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในกลุ่มจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม และรักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่อุทยานอย่างยั่งยืน  

โดยความเห็นที่ประชุมระบุว่า เนื่องจากการพัฒนาโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงมีประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมายสำคัญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชน และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาในรายละเอียดของโครงการฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการ มติที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) “ศึกษาความเหมาะสม” ของโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย

ในยุครัฐบาลคสช.มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลยเช่นเดียวกัน 

  • วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 มติครม. เห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งปรากฏว่าเป็นโครงการฯมีความคุ้มค่าในการลงทุนทั้งด้านการเงินและด้านเศรษฐศาสตร์ โดยมี IRR เท่ากับ 7.16 % และ 17.62 % รูปแบบการลงทุน ผลการศึกษาพบว่า PSC-Gross หรือ PSC – Modified Gross Cost มีความเหมาะสมที่สุด 

โดยสำนักงบประมาณตอบกลับความเห็นไปว่า ผลจากการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ดังกล่าว จะเห็นว่า การก่อนสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง มีความคุ้มค่าในการลงทุนและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อในพื้นที่ก่อนสร้างในระดับต่ำ ประมาณการค่าก่อสร้างภายในวงเงิน 633.89 ล้านบาท 

 

มหากาพย์ \"กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง\" ก่อนพับแผนเก็บเข้าลิ้นชัก

 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าภาพศึกษาความเป็นไปได้ ตอบความเห็นว่า เนื่องจากโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย อยู่ในพื้นที่ครม.กำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ เรื่อง กำหนด ประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำราบงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกาศ ณ วันที่ 24 เมษายน 2555 ต่อไป 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตอบความเห็นว่า ได้ศึกษาเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียแล้ว เห็นว่า จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุและคนพิการ ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล รวมถึงจะช่วยขนขยะและของเสียจากยอดภูกระดึงลงมาจำกัดด้านล่าง 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตอบความเห็นว่า เนื่องจากโครงการนี้ใช้งบประมาณในการลงทุนสูง ประกอบกับโครงการตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จึงขอความเห็นเพิ่มเติม และต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ