พาณิชย์ ชวนบิ๊กธุรกิจยุโรปลงทุนในไทย

02 ธ.ค. 2566 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2566 | 10:02 น.

พาณิชย์ เปิดกระทรวงต้อนรับ ภาคธุรกิจจากยุโรป 29 รายจาก 24 บริษัท ชวนลงทุนในไทย มั่นใจ ไทยเร่งทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับ สหภาพยุโรป หรืออียู แล้วเสร็จในปี 2568 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ทำการต้อนรับผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจ และการพาณิชย์ (EABC) 39 ราย จาก 24 บริษัท หารือในประเด็น ต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมการประกอบธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากยุโรป

ช่วงท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาตนพร้อมคณะผู้บริหารของกระทรวง พาณิชย์ ได้หารือกับคณะนักธุรกิจจาก EU-ABC และ EABC ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของยุโรป ที่ประกอบธุรกิจในอาเซียนและในไทย เช่น แอร์บัส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มิชลิน ฟรีซแลนด์-คัมพีน่า ดีเอชแอล พรูเดนเชียล โนวาร์ตีส

โดยได้ชี้แจงนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ของไทยแก่ นักธุรกิจยุโรป แลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนนโยบายของไทย โดยเฉพาะการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและภาคเอกชนยุโรป

นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนในการเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับ สหภาพยุโรป หรืออียู ที่มีเป้าหมายสรุปการเจรจาให้ได้ภายในปี 2568 เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนระหว่าง ไทยและอียูอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงแผนที่จะทบทวนและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจการลงทุน และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก

"ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าใหม่ ๆ ทุกประเทศและทุกฝ่ายควรดำเนินการร่วมกันอย่างฉันมิตร คำนึงถึงข้อเท็จจริง และระดับความแตกต่าง มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตาม และระยะเวลาการปรับตัวของแต่ละประเทศ จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ-เอกชน รวมถึงเอกชน-เอกชน"

  ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กระทรวงพาณิชย์

ในส่วนผู้แทนภาคธุรกิจของฝั่งยุโรปได้แสดงความยินดีที่ FTA ไทย–EU กลับมาเจรจาอีกครั้ง โดยพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ภาคเอกชน

นอกจากนี้ ได้หยิบยกประเด็นการค้าอื่น ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การควบคุมราคาสินค้า พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ขึ้นหารือกับกระทรวงพาณิชย์ โดยได้รับทราบนโยบายและข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อ ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจและวางแผนการค้าการลงทุนต่อไป

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

  • EU เป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจาก จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
  • 10 เดือนแรกปี 66 ไทย-EเวลาU มีการค้ารวม 35,013.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,206,685.59 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.96% 
  • สัดส่วนการค้า ไทย-EU คิดเป็น 7.3% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก
  • ไทยส่งออก EU 18,247.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (624,969.91 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้า 4.42%
  • ไทยนำเข้า EU 16,765.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (581,715.68 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9.94%
  • ไทยได้เปรียบดุลการค้า EU 1,482.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (43,254.23 ล้านบาท)
  • สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง
  • สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม และเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์
  • ไทยตั้งเป้าสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-EU ภายใน 2 ปี (ปี 2568) 

พาณิชย์ ชวนบิ๊กธุรกิจยุโรปลงทุนในไทย