เน็กซ์ พอยท์ แนะรัฐดันยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2050

29 พ.ย. 2566 | 18:19 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2566 | 18:27 น.

เน็กซ์ พอยท์ แนะภาครัฐ ปลุกยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ รุกภาคโลจิสติกส์ ลุยเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก-คาร์บอนภายในปี 2050 หวังเพิ่มโอกาสทางการค้ารับมาตรการซีแบม

นายคณิสสร์  ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX  เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ตั้งแต่ปี 2567-2570 โดยรัฐให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ ตามประเภทและขนาดของแบตเตอรี่ สูงสุด 1 แสนบาทต่อคัน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และดึงนักลงทุนรายใหม่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 นั้น 

เน็กซ์ พอยท์  แนะรัฐดันยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2050

นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า แนวคิดและมาตรการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ส่วนตัวมองว่ายังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เพราะรถที่เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลหลายเท่าตัว เป็นรถขนส่งเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่เป็นยานพาหนะหลักในภาคโลจิสติกส์ของประเทศ

 

“หากต้องการจะบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 สิ่งที่รัฐควรให้ความสนใจ คือกำหนดมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมเรื่องของรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะในระบบโลจิสติกส์ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร ขนส่งสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ จะสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลได้อย่างยั่งยืน” 
 

นอกจากนี้ยังส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเข้าใกล้เป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลได้ตรงประเด็นกว่าการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมียอดจดทะเบียนสะสมรถบรรทุก ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปรวมรถหัวลากในตลาดมีกว่า 1.3 ล้านคัน หากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ทยอยเปลี่ยนจากรถสันดาปมาเป็นรถขนส่งพลังงานไฟฟ้า อาจจะปีละแค่ประมาณ 10,000 คัน ก็จะทำให้ต้นทุนยิ่งถูกลง และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้และส่งเสริมให้ไทยเข้าสู่เป้าหมายการลดปล่อนก๊าซเรือนกระจกได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางการค้าภายใต้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) อีกด้วย

 

 ผศ.ดร.มะโน ปราชญาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) กล่าวว่า ขอเสนอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ในการปรับเปลี่ยนจากรถสันดาปมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้า เช่น จัดเงินอุดหนุนเหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล สิทธิด้านภาษี สิทธิการใช้ช่องทางพิเศษเข้าท่าเรือได้รวดเร็วกว่ารถน้ำมันที่ต้องจอดรอคิวกันหลายชั่วโมงกว่าจะได้ขนถ่ายสินค้า หรืออาจเข้าเมืองเร็วกว่ารถน้ำมัน 1 ชั่วโมง และการสนับสนุนด้านเบี้ยประกันภัย เพื่อเป็นการชวนเชิญให้ผู้ประกอบการขนส่งภาคเอกชนเปลี่ยนมาใช้รถขนส่งไฟฟ้า

เน็กซ์ พอยท์  แนะรัฐดันยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2050

“รัฐอาจกำหนดแนวทางสนับสนุนเงินอุดหนุนในการซื้อรถเชิงพาณิชย์ ในกรณีรถที่ผลิตและประกอบในประเทศ ในสัดส่วนชิ้นส่วนรถที่ใช้วัสดุส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศมากกว่าร้อยละ 70 รัฐอุดหนุนเป็นเงิน 500,000 บาทต่อคัน หรือ 10% กรณีรถที่ผลิตและประกอบในประเทศในสัดส่วนชิ้นส่วนรถที่ใช้วัสดุส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศมากกว่าร้อยละ 50 รัฐอุดหนุน 300,000 บาทต่อคัน เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการผลิตในประเทศ โดยเงินในการสนับสนุนอาจจะนำมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง”

ขณะเดียวกันในปัจจุบันผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านส่งออกกำลังเผชิญกับมาตรการ CBAM ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็อยู่ระหว่างร่างกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอน และเชื่อว่าอีกหลายประเทศกำลังดำเนินการในเรื่องนี้ 

เน็กซ์ พอยท์  แนะรัฐดันยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2050

“ส่วนตัวมองว่าการที่รัฐช่วยสนับสนุนเปลี่ยนรถในระบบโลจิสติกส์และการขนส่งจากรถสันดาปมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้า เท่ากับเป็นการช่วยผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อมในการพัฒนากระบวนการผลิตและการบริการ รวมทั้งการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าตามมาตรการซีแบม”

 

อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการรายใดต้องการข้อมูลหรือคำปรึกษา สามารถสอบถามมาได้ที่เพจเฟซบุ๊ค Rich Cls Ssru ทางสถาบันยินดีให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถปรับตัวรองรับมาตรการ CBAM และขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน