นักวิชาการจี้รัฐชะลอ"ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ"ชี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม

12 พ.ย. 2566 | 11:51 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2566 | 11:51 น.
543

นักวิชาการจี้รัฐชะลอ"ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ"ชี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ห่วงเป็นภาระทางการคลัง ระบุรัฐมีภาระผูกพันงบประมาณสูงกว่า 70% ต่อจีดีพี ขณะที่งบกระตุ้นเศรษฐกิจเหลือเพียง 20%

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่จะปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า เห็นด้วยหากรัฐจะมีแนวคิดปรับขึ้นเงินเดือนราชการ เพราะต้องยอมรับว่า เงินเดือนข้าราชการไทยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ในอัตราที่น้อย 

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน ที่ต้องมีภาระผูกพันต่อเนื่อง และหากดูภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่ดีนัก จึงมองว่า สถานการณ์โดยรวมยังไม่เหมาะกับการเพิ่มภาระผูกพันด้านงบประจำที่เพิ่มภาระด้านการคลังให้กับประเทศ

ทั้งนี้ เข้าใจดีถึงความจำเป็น และถือเป็นสัญาญาประชาคมที่รัฐบาลหาเสียงไว้ แต่มองว่ายังไม่ใช่เวลานี้ เพราะยังมี 2 ข้อจำกัด ที่รัฐบาลต้องคิด คือ จากบริบทในแง่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และข้อจำกัดด้านการคลัง ที่ยังไม่เอื้ออำนวย หากจะทำรัฐบาลต้องใช้ดุลยภาพว่า ขึ้นในระดับที่การคลังรับได้ ไม่ให้เกิดภาระด้านการคลังในอนาคต คือไม่ขึ้นมากจนเกินไป 

รศ.ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า หากดูสัดส่วนด้านงบประมาณการลงทุนของไทย ขณะนี้เหลือประมาณ 20% ของจีดีพีซึ่งถือว่าต่ำมาก เพราะโดยทั่วไปงบลงทุนควรอยู่ประมาณ 30% ต่อจีดีพี เนื่องจากงบประจำของไทยพุ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้ขยับไปอยู่ที่ 76-77% ต่อจีดีพี และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่รัฐบาลควรคำนึงให้มาก เพราะถ้างบลงทุนมีน้อย เท่ากับว่าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยก็จะน้อยลง

"ขณะนี้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งหมายความว่า ความสามารถของภาครัฐในการจัดเก็บภาษีจะถูกจำกัดมากขึ้น เห็นได้จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 2% ถือว่าต่ำสุดในอาเซียน โดยเศรษฐกิจอาเซียนเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5% ซึ่งไทยเติบโตเฉลี่ยอยู่ในอันดับ 9 หรือ 10  นั่นเพราะขีดความสามารถการแข่งขันของไทยตกต่ำลงมา"

อีกทั้งรัฐบาลในขณะนี้เป็นรัฐบาลผสม ซึ่งแต่ละพรรคก็มีนโนยายคล้ายกัน คือ การใช้งบประมาณเพื่อลดแลกแจกแถม ซึ่งจะมีแต่ค่าใช้จ่าย แต่รายรับกลับไม่ชัดเจน และรายจ่ายส่วนนี้ก็จะไปเพิ่มอยู่ในงบประจำของประเทศ 

นอกจากนี้ ในอนาคตไทยจะมีปัญหาด้านการคลังค่อนข้างมาก จากภาระการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยปัจจุบันพบว่า คนวัยทำงานอายุตั้งแต่ 15-59 ปี มีสัดส่วน 65% จะต้องดูแลคนที่ไม่ทำงาน หรือผู้สูงอายุ 35% 

แต่อีก 10 ปีข้างหน้าคนทำงานจะลดเหลือ 55% แต่คนที่ไม่ทำงาน หรือคนชราจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก จึงเห็นว่า นี่ยังเป็นข้อจำกัดของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในขณะนี้ ที่สำคัญขึ้นเงินเดือนแล้ว เพื่อให้ข้าราชการอยู่ได้แล้ว ภาครัฐต้องรีสกิล พัฒนาขีดความสามารถการทำงานของข้าราชการควบคู่ไปด้วย เพราะตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล จะมีการใช้ AI เข้ามาร่วมทำงาน หรือแทนที่คนทำงาน 
 

ซึ่งต่อไปจะเกิด Disruption คือ เมื่อขึ้นเงินเดือนมาถึงจุดหนึ่ง ต่อไปเชื่อว่าจะตามมาด้วยการลดจำนวนคนทำงานลง จึงต้องพิจารณาให้ดี นอกจากนี้รัฐบาล ต้องมีการขยายระยะเวลาเกษียณ ซึ่งจะช่วยลดภาระด้านการคลังได้ในระยะยาว

"รัฐบาลควรรออีกสักระยะ รอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนกว่านี้ และรอความชัดเจนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาลก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณด้วย หรือหากจะเดินหน้าก็อาจพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนในของข้าราชการชั้นผู้น้อยไปก่อน หรือเพิ่มเงินเดือนให้ผู้น้อยมากกว่าข้าราชการขั้นกลาง หรือชั้นผู้ใญ่ ก็เป็นอีกทางที่ช่วยลดภาระด้านการคลังได้"