รฟท.ปลุก 5 โปรเจ็กต์ บูมทางรถไฟรุกนิคมอุตสาหกรรม

10 พ.ย. 2566 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2566 | 17:56 น.

รฟท.เปิดแผน 5 โปรเจ็กต์ รุกทางรถไฟเชื่อมนิคมอุตสาหกรรม วงเงิน 3.2 พันล้านบาท ชงของบปี 67 เดินหน้าศึกษาต่อ คาดได้งบภายใน ก.พ. 67 ลุ้นตอกเสาเข็มเริ่มปี 68 หวังลดต้นทุนขนส่งสินค้า เพิ่มผู้ใช้บริการในอนาคต

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ปัจจุบันรฟท.มีแผนศึกษาโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม ทั้งหมด 5 โครงการ โดยปีนี้รฟท.มีนโยบายพัฒนาระบบรางเพื่อตอบโจทย์ในการขนส่งสาธารณะด้วยระบบราง เนื่องจากปัญหาของระบบรางของไทยในปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้

 

ทั้งนี้กรมขนส่งทางราง (ขร.) และกระทรวงคมนาคมได้เสนอขออนุมัติงบประมาณเพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง วงเงิน 18 ล้านบาท โดยผ่านความเห็นชอบจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ ปี 2567 แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรองบประมาณปี 2567 คาดว่าจะได้รับจัดสรรงบประมาณดังกล่าวภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ขณะเดียวกันหากได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 แล้ว หลังจากนั้นรฟท.จะเริ่มจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯทั้ง 5 แห่ง ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน และดำเนินการออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ (Detail Design) ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี คาดแล้วเสร็จภายในปี 2568 หลังจากนั้นจะขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2568 โดยโครงการนี้รฟท.จะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด เบื้องต้นการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟจะเชื่อมต่อเขตนิคมอุตสาหกรรมได้โดยตรง

 

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารฟท.ได้ดำเนินการศึกษาพลังงานทางเลือก เช่น ไฮโดรเจน, โซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ โดยใช้สมาร์ทเทคโนโลยีจากพลังงานแบตเตอรี่มาทดสอบระบบรถไฟของรฟท.แทนการใช้น้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จากการศึกษาในครั้งนี้พบว่า พลังงานทางเลือกที่สามารถทดสอบได้เร็วที่สุด คือ พลังงานแบตเตอรี่ สามารถลากจูงสินค้า น้ำหนัก 2,500 ตันต่อ 1 ขบวน ระยะทาง 120 กิโลเมตร (กม.) จากบริเวณพื้นที่ไอซีดี-ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งการทดสอบนี้ถือเป็นเป้าหมายที่ตรงตามความต้องการของรฟท.

 

“ขณะนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ได้เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในไทย อีกทั้งไทยยังมีความสามารถในการผลิตรถยนต์สูงขึ้น โดยโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา หากรฟท. สามารถผลักดันได้จะเป็นโมเดลแรก ที่จะช่วยพัฒนาระบบรางบนโครงสร้างพื้นฐานของรฟท.ที่ดำเนินการไว้อย่างต่อเนื่อง”

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า โครงการนี้แตกต่างจากโครงการย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard :CY) เดิมของรฟท. เนื่องจากโครงการ CY สามารถนำตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งสินค้าเข้ามาตั้งในพื้นที่รถไฟได้ แต่ไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาจากเอกชนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรฟท.คาดหวังว่านิคมอุตสาหกรรมน่าจะใช้สิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) ค่อนข้างมาก เช่น WHA มีโรงงานผลิตรถยนต์ หากอะไหล่ประกอบรถยนต์ที่นำเข้าจากประเทศจีนสามารถขนส่งผ่านระบบรางได้ถือเป็นเรื่องที่ดี

รฟท.ปลุก 5 โปรเจ็กต์ บูมทางรถไฟรุกนิคมอุตสาหกรรม

สำหรับโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง ระยะทางรวม 14.4 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 3,261 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เขตอุตสาหกรรมเหล็กของกลุ่มสหวิริยาสตีลอินดัสตรี ช่วงสถานีนาผักขวง และ SSI’s Distribution Hub กับ SSI’s Logistics Terminal. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 2.4 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 399 ล้านบาท 2.นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร กฟผ.แม่เมาะ ระยะที่ 1 : ช่วงสถานีแม่เมาะ-CY กฟผ.แม่เมาะ ระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 80 ล้านบาท 3.นิคมอุตสาหกรรม WHA ตะวันออก จังหวัดระยอง ระยะทาง 3กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 690 ล้านบาท 4.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1,071 ล้านบาท 5.นิคมอุตสาหกรรมเวิร์ล จังหวัดลำพูน ระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1,021 ล้านบาท

 

 อย่างไรก็ตามหากรฟท.สามารถดำเนินโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางและผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าในอนาคตด้วย