หานิยามรวย-จน ทางลงนโยบายเงินดิจิทัล

25 ต.ค. 2566 | 14:14 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 15:30 น.

คณะอนุฯเงินดิจิทัลยังไม่นัดประชุมเพราะมีการส่งกฏหมายหลายฉบับให้กฤษฎีกาตีความ ผลที่ออกมาทำให้รัฐบาลหนักใจเพราะต้องหาเงินให้ได้ 5.6 แสนล้านบาท เป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีบอกจะแยกจนรวยยังไง หรือจะเป็นทางลงให้กับนโยบาย โดยที่ใช้เงินน้อยกว่าเดิม

เหตุเลื่อนประชุมเงินดิจิทัลไม่มีกำหนด

การที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เลื่อนประชุมมาตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา มาจนถึงวันที่ 24 ตุลาคม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับรายละเอียดของนโยบายนี้ ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงแนวทางที่จะเป็นไปได้ ที่ทำให้นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทเกิดเป็นรูปธรรมในไตรมาส 1 ปี 2567 ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายไว้ ทำให้นึกสงสัยไปว่าทำไมถึงไม่ประชุมสักที แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้า นับตั้งแต่นักการเงินและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วฟ้าเมืองไทยร่วมลงชื่อกว่าร้อยคน นำโดยอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายคน คัดค้านนโยบายนี้ นำไปสู่การคัดค้านของสว.ที่ขู่ว่าจะผิดกฏหมาย ทั้งจะยื่นให้หน่วยงานอิสระตรวจสอบทั้งปปช. สตง.

แหล่งข่าวกล่าวว่า การประชุมคณะอนุกรรมขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทครั้งแรก มีเสียงสะท้อนจากข้าราชการที่กังวลถึงการกระทำที่อาจะเข้าข่ายผิดกฏหมาย แต่เรื่องใหญ่ที่สุดคือการหาเงินจากไหนมา เพื่อใช้ในนโยบายหนึ่งในนั้นคือการใช้เงินนอกงบประมาณซึ่งน่าจะสามารถทำได้ง่ายที่สุดเพราะมีอำนาจอยู่ในมือ โดยการให้คณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลัง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธานขยับเพดานการใช้เงินนอกงบประมาณที่ 32% เป็น 45% ซึ่งจะมีเงินนอกงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 1.8 แสนล้านบาท  ความสุ่มเสี่ยงผิดกฏหมายพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ทำให้ต้องมีการส่งเรื่องไปที่กฤษฎีกาตีความตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังและที่ต้องเลื่อนจนทำให้ยังไม่สามารถเรียกและกำหนดประชุมได้จนกว่าจะมีการส่งเรื่องกลับมา

หานิยามรวย-จน ทางลงนโยบายเงินดิจิทัล

ปิดประตูตายม. 28 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง 

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเรื่องไปยังกฤษฎีกาให้ตีความตามกฏหมายมีหลายฉบับไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 พ.ร.บ.สินทรัพย์เงินดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังตามมาตรา 28 ที่ระบุว่า 
“ การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการหรือโครงการโดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฏหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานรัฐนั้น เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพิ่มเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระกับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม”


ข้อมูลข้างต้นอาจไม่เข้าข่ายที่ธนาคารของรัฐอย่างธนาคารออมสินจะสามารถนำเงินส่วนหนึ่งมาใช้ในโยบายนี้ได้  “หากย้อนกลับไปในช่วงนโยบายจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ปี 2557  ธนาคารออมสินก็เคยให้เงินช่วยเหลือตามนโยบาย แต่เป็นการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กู้เงินเป็นจำนวน 5,000 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

หานิยามรวย-จน ทางลงนโยบายเงินดิจิทัล

นายกฯถามแยกจน – รวย อย่างไรใครช่วยบอกที 

นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน ซึ่งการแยกระหว่างคนรวยกับคนจน จะทำอย่างไร จะดูที่รายได้หรือความมั่งคั่ง บางคนไม่มีรายได้ แต่มีทรัพย์สินเป็นพันล้าน หากจะไปแยกจากบัญชีเงินฝากใครจะเป็นคนกำหนดเกณฑ์ว่าจะต้องมีเงินเท่าไหร่ที่เรียกว่าคนรวย  “ผมไม่อยากจะไปกำหนดว่า 5 ล้าน 10ล้าน แต่เสนอเข้ามาได้ แล้วทำประชาพิจารณ์ รัฐบาลพร้อมรับฟัง”  

ที่ผ่านมามีคำแนะนำจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการปรับเงื่อนไขของโครงการแจกเงินดิจิทัล โดยเสนอว่าอยากให้รัฐบาลทบทวนการแจกเงินดิจิทัลแบบเจาะจงมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ทีมงานก็ได้หารือกับผู้ว่าฯ ธปท. แล้ว เพื่อจะหาวิธีการปรับปรุงเงื่อนไข โดยเฉพาะคำจำกัดความของคำว่า “คนรวย” ที่เหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย