กรมวิชาการเกษตร แนะใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

19 ต.ค. 2566 | 18:48 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2566 | 18:59 น.
744

“ปุ๋ย” เป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช และเป็นต้นทุนในการผลิตพืชของเกษตรกร การใช้ปุ๋ยในการผลิตพืชจึงจำเป็นต้องใช้ให้เหมาะสมกับดินในแต่ละพื้นที่

กรมวิชาการเกษตร แนะใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

ทั้งนี้เนื่องจากมีคุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติทางเคมี และระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินที่แตกต่างกัน อีกทั้งต้องคำนึงถึงระดับความต้องการธาตุอาหารของพืช ร่วมกับกับการพิจารณาถึงผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต สามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยผลผลิต และช่วยรักษาศักยภาพของดินในการผลิตพืชได้อย่างยั่งยืน

กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร  กรมวิชาการเกษตร  ให้คำแนะนำการวิเคราะห์ค่าดินก่อนการปลูกพืชมีความจำเป็นต่อการผลิตพืชของเกษตรกร  เป็นการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อให้ทราบปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน สภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการธาตุอาหารของพืช แล้วนำมาคำนวณปริมาณธาตุอาหารหลัก เพื่อช่วยในการแนะนำการใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกษตรกรสามารถใส่ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็นเหมาะสมตรงกับความต้องการของพืช  ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร

กรมวิชาการเกษตร แนะใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นคำแนะนำการใช้ปุ๋ยธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม) ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ดินทางเคมี โดยเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดินสำหรับประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินก่อนการปลูกพืช ความเป็นกรด-ด่างของดิน และนำค่าที่วิเคราะห์ได้มาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน เพื่อประเมินปริมาณธาตุอาหารที่เหมาะสมกับพืชอย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้นจึงคำนวณปริมาณธาตุอาหารหลักที่ต้องใส่ให้กับพืช ซึ่งพืชแต่ละชนิดมีความต้องการปริมาณธาตุอาหารสำหรับใช้ในการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิตของพืชแตกต่างกัน  สามารถนำแม่ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ หรืออาจใช้ปุ๋ยเชิงประกอบที่มีขายในท้องตลาดนำมาผสมใช้เอง เพื่อให้ได้ธาตุอาหารตามปริมาณที่แนะนำความต้องการของพืช  ในกรณีที่เป็นการนำแม่ปุ๋ยชนิดต่างๆ มาผสมใช้เอง เช่น ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (18-46-0) ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) เป็นต้น  หรือกรณีการใช้ปุ๋ยเชิงประกอบที่มีขายในท้องตลาด เช่น ปุ๋ย 15-15-15  ปุ๋ย 8-24-24 ปุ๋ย 16-16-8  ปุ๋ย 16-20-0  ปุ๋ย 15-7-18 เป็นต้น ร่วมกับแม่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60)

ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ได้แก่ 1.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย โดยใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับลักษณะดิน และตรงตามความต้องการของพืช  2.ช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมตรงตามความต้องการของพืชปลูก ไม่ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากหรือน้อยจนเกินไป และลดการใช้ปุ๋ยที่เกินความจำเป็นซึ่งทำให้การสูญเสียปุ๋ยน้อยลง ช่วยลดการสูญเสียของธาตุอาหารจากการชะล้างหรือระเหยหายไปในอากาศ 3.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพืช และรักษาศักยภาพในการผลิตพืชได้อย่างยั่งยืน และ 4.ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุไนโตรเจนที่เกินความต้องการของพืช

กรมวิชาการเกษตร แนะใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

เกษตรกรสามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหาร โดยใช้ชุดตรวจสอบปริมาณธาตุอาหารในดินอย่างง่าย (Soil test kits) เพื่อให้ทราบระดับของปริมาณธาตุอาหารในดินเบื้องต้นได้ ซึ่งระดับของธาตุอาหารในดินที่ตรวจสอบจะแบ่งเป็นระดับตํ่า ปานกลาง สูง จากนั้นจึงนำไปเทียบกับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามระดับของปริมาณธาตุอาหารที่ตรวจสอบได้

ทั้งนี้ถ้าเกษตรกรต้องการทราบระดับของปริมาณธาตุอาหารที่แน่นอนจะต้องนำตัวอย่างดินส่งให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ทราบปริมาณธาตุอาหารที่ถูกต้อง แล้วแปลผลวิเคราะห์ดิน  เกษตรกรสามารถเก็บตัวอย่างดินและส่งวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดิน พร้อมรับคำแนะนำการใช้ปุ๋ย โดยส่งตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรหรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนารูปแบบคำแนะนำการใช้ปุ๋ย กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร  โทรศัพท์ 0-2579-7514