ประวัติ ‘สงคราม กิจเลิศไพโรจน์’ ที่ปรึกษานายกฯ

16 ต.ค. 2566 | 16:37 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2566 | 18:09 น.
1.4 k

เปิดประวัติ ‘สงคราม กิจเลิศไพโรจน์’ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ , หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี สู่การข้ามห้วยเป็น สส. เพื่อไทย และล่าสุด ครม. ตั้งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมืองและข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหาร ระดับสูง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพิ่มอีก 4 ราย มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยหนึ่งในนั้นคือ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่มีประสบการณ์ในวงการธุรกิจและเข้าสู่แวดวงการเมือง

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ เกิดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2487 เติบโตในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นลูกคนที่ 4 จากพี่น้องทั้งหมด 5 คน ทำธุรกิจนำเข้าของเด็กเล่นจากต่างประเทศ เปิดร้านผลิตของเล่นและขยายกิจการตั้งโรงงานผลิตของเด็กเล่นขายในประเทศและส่งออก ภายใต้แบรนด์ “ดรีมทอย” และ “อิมพีเรียลไทยทอย” ควบคู่กับการทำธุรกิจศูนย์การค้า “อิมพีเรียลเวิลด์” ห้างฯเก่าแก่ของกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ยาวนานกว่า 30 ปี

ประวัติด้านการศึกษา

  • ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สถาบันราชภัฏธนบุรี 
  • ปริญญาโท บริหารธุรกิจ สาขาการจัดการทั่วไป ม.อีสเทิร์นเอเชีย 
  • ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 
  • ปริญญาเอก รัฐประศาสนศาตร์ ม.ราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์

ประสบการณ์การทำงาน

  • อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์)
  • อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
  • อดีตเหรัญญิกพรรคพลังประชาชน
  • หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ

สำหรับงานด้านการเมือง นายสงคราม เคยเป็นที่ปรึกษาประธานรัฐสภา (ดร.โภคิน พลกุล) และที่ปรึกษาให้กับ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ต่อมาได้รับตำแหน่งเหรัญญิกพรรคพลังประชาชน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปี พ.ศ. 2551 แต่ก็ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน หลังเป็น 1 ใน 5 ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับการสนับสนุนเงินให้กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.)

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 นายสงคราม ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 89 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต่อมาได้จัดตั้งพรรคการเมืองและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อชาติ

นายสงคราม ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ หลังจากได้ลงมติงดออกเสียงในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2564 กรณีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า จนทำให้สมาชิกพรรคบางส่วนไม่พอใจ จนกระทั่งในช่วงเดือน มกราคม พ.ศ. 2566 ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ปัจจุบันนายสงครามได้ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย

สำหรับการแต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 สามารถแต่งตั้งได้ทั้งหมด 5 ตำแหน่ง ก่อนหน้านี้ ครม. ได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแล้ว 1 ราย คือ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2566 โดยการแต่งตั้งในครั้งที่ 2 นี้ นอกจากนายสงครามแล้ว ยังมีอีก 3 คน ได้แก่ นายชัยเกษม นิติสิริ , พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก , นายพิชัย นริพทะพันธุ์ โดยตำแหน่งนี้ มีอัตราเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งรวมเดือนละ 72,660 บาท แบ่งเป็น เงินดือน 57,660 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 15,000 บาท