"เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ" ปิดห้องเลี้ยงมื้อเที่ยง ถกปัญหาการเงินนับชั่วโมง

02 ต.ค. 2566 | 14:38 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2566 | 14:38 น.
1.0 k

"เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ" ปิดห้องคุยมื้อเที่ยงที่ทำเนียบ เกือบชั่วโมง ก่อนโพสโชว์กินข้าว ย้ำหารือทุกเดือน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้านเศรษฐกิจ และการเงิน

(2 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ถึงการเข้าหารือของ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการหารือกัน 2 ต่อ 2 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า

โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาลขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าเมื่อเวลา 12.30น. โดยประมาณและใช้ระยะเวลาการหารือกับ นายกรัฐมนตรี ซึ่งใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ก่อนลงจากตึกและเดินทางกลับออกจากทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 13.20น. โดยไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด

ขณะที่ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ได้โพสข้อความผ่าน X (Twitter เก่า) มีข้อความว่า "วันนี้ผมเชิญ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ และการเงิน เป็นการประชุมที่มีประโยชน์มากครับ และหลังจาก นี่ก็จะมีการนัดพบปะหารือในลักษณะนี้เป็นประจํา ทุกเดือนครับ"

\"เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ\" ปิดห้องเลี้ยงมื้อเที่ยง ถกปัญหาการเงินนับชั่วโมง

สำหรับก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสั้นๆ ในช่วงเช้าที่ เมืองทองธานี ถึงการคุยกับผู้ว่าแบงก์ชาติ ว่าเป็นการเรียกมาคุยกัน ส่วนจะหารือเกี่ยวกับเรื่องลดดอกเบี้ยอย่างไร หรือไม่นั้น นายกระบุว่า คงมีการหารือกันในทุกเรื่อง

รวมทั้งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของ แบงก์ชาติ ซึ่งขณะนี้แบงก์ชาติกำลังจับตาเงินบาทที่อ่อนค่าลงโดยเห็นว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้เป็นผลมาจากกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย 

อันเนื่องมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงและใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเชิงรุก ซึ่งส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นมีการคาดหมายกันว่า การหารือในครั้งนี้ เป็นประเด็นด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2.50% ต่อปี และมีผลเมื่อวันที่27 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร และจะมีข้อแนะนำในการหา นโยบายดูแลประชาชน