“อินโดรามา” ทะลุเป้ารีไซเคิล PET 1 แสนล้านขวด ทุ่ม 1.5 พันล้านดอลลาร์ลุยต่อ

25 ก.ย. 2566 | 18:47 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2566 | 18:57 น.

อินโดรามา เวนเจอร์ส ประกาศความสำเร็จรีไซเคิลขวด PET ที่ใช้งานแล้วครบ 1 แสนล้านขวด ลดของเสียจากสิ่งแวดล้อมได้กว่า 2.1 ล้านตัน ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 2.9 ล้านตัน ประกาศทุ่มอีก 1.5 พันล้านดอลลาร์ลุยต่อ

นายอาลก โลเฮีย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส เผยว่า นับเป็นการบันทึกสถิติใหม่ในการรีไซเคิลขวด PET จำนวน 1 แสนล้านขวดของอินโดรามาฯได้ตามเป้าหมายนับแต่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554  ซึ่งขอขอบคุณผู้บริโภคสำหรับการร่วมกันรีไซเคิล ตลอดจนแบรนด์ระดับโลกสำหรับการใช้บรรจุภัณฑ์ PET ที่สามารถรีไซเคิลได้และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจาก PET รีไซเคิล

ขณะเดียวกันยังช่วยทำให้อัตราการเก็บรวบรวมขวด PET เพิ่มขึ้น โดยความท้าทายต่อการจัดการขยะที่มีปริมาณมากกระตุ้นให้ทุกคนต้องทำงานให้มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2563  ทางกลุ่มได้ประกาศความสำเร็จในการดำเนินการรีไซเคิลขวด PET ครบจำนวน 5 หมื่นล้านขวดในระยะเวลา 9 ปี มาวันนี้สามารถทำลายสถิติได้มากถึง 1 แสนล้านขวด ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีครึ่งเท่านั้น

 

สำหรับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดเก็บขวด PET ที่ผ่านการใช้แล้วอย่างเป็นระบบ และให้คำมั่นที่จะสานต่อในการให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการขยายธุรกิจรีไซเคิล เพื่อสนับสนุนอัตราการรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส ได้ขยายโรงงานรีไซเคิลอีกหลายแห่ง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและโครงการให้ความรู้แก่สาธารณชน โดยพลาสติก PET ที่ใช้สำหรับผลิตขวดน้ำดื่มและขวดน้ำอัดลม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด และถูกเก็บรวบรวมนำไปรีไซเคิลได้จริงและในปริมาณมาก

“อินโดรามา” ทะลุเป้ารีไซเคิล PET 1 แสนล้านขวด ทุ่ม 1.5 พันล้านดอลลาร์ลุยต่อ

ด้วยเหตุนี้ PET จึงเป็นพลาสติกที่ถูกนำมารีไซเคิลมากที่สุดในโลก และความสำเร็จในการรีไซเคิลของบริษัทฯ ก็สนับสนุนสิ่งเหล่านี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส ยังคงเสาะหาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิลทั่วโลกให้มากขึ้น และลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตลอดวงจรชีวิตของวัสดุ เพื่อตอกย้ำจุดยืนของบริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับใช้ผลิตขวดเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในโลก

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโรงงานรีไซเคิล 20 แห่งในภูมิภาคเอเชีย อเมริกา และยุโรป ซึ่งการพัฒนาล่าสุด ได้แก่ การเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานรีไซเคิลในประเทศบราซิลเป็นสองเท่า และการเปิดโรงงาน PETValue เพื่อรีไซเคิลขวดเครื่องดื่มใช้งานแล้วนำไปผลิตเป็นขวดใหม่ (bottle-to-bottle recycling) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ โดยความร่วมมือกับ Coca-Cola  โดยทั้งสองโครงการเป็นส่วนหนึ่งของ “สินเชื่อสีน้ำเงิน” มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้รับในปี 2563 จากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย

โดยเงินกู้ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิล และลดปริมาณขยะพลาสติกจากการฝังกลบและเล็ดลอดสู่มหาสมุทรในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องการการสนับสนุนในการจัดการขยะสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส ยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิยูนุส ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรชั้นนำที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้เครือข่ายระดับโลก โดยมีเป้าหมายในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคหนึ่งล้านคนทั่วโลกเกี่ยวกับการรีไซเคิลภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเข้าถึงไปแล้วกว่า 200,000 ราย