สรรพากร ลุยรื้อเกณฑ์ภาษีมรดก หลัง "เศรษฐา" สั่งเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ

18 ก.ย. 2566 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2566 | 16:43 น.
2.8 k

สรรพากร รับลูก "นายกฯเศรษฐา ทวีสิน" ศึกษารายละเอียดภาษีมรดก จ่อรื้อเกณฑ์ให้เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ พร้อมดูรายละเอียดภาษีเกี่ยวกับการให้ช่วงมีชีวิตอยู่

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ทบทวนเรื่องภาษีมรดกนั้น ขณะนี้กรมได้รับนโยบายแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ และความเหมาะสมในการจัดเก็บภาษี 

ทั้งนี้ จะพิจารณาในเรื่องอัตราการเก็บภาษี และโครงสร้างต่างๆ เพราะมีรายละเอียดหลายส่วน โดยเป้าหมายในการออกภาษีมรดกช่วงแรกอัตราภาษีไม่สูงนัก เนื่องจากช่วงนั้นเป็นภาษีใหม่ ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก และเกิดแรงต้าน และเมื่อปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป จึงจะมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม 

ขณะเดียวกัน กรมจะไปศึกษาและดูรายละเอียดภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีเกี่ยวกับการให้ อาทิ การมอบ โอนสิทธิในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ส่วนแผนปฏิรูปภาษีในภาพใหญ่ของกรมนั้น จะต้องนำเสนอรัฐบาลอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับประเด็นดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งบนเวทีงาน Thairath Forum 2023 ในหัวข้อ “Future Perfect เปิดมุมคิด พลิกอนาคต” ตอนหนึ่งว่า ในประเด็นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ได้พูดคุยกับอธิบดีสรรพากรคนใหม่ ทั้งในเรื่องภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีมรดก ภาษีลดความเหลื่อมล้ำทั้งหลาย ซึ่งภาษีมรดก เก็บได้ประมาณ 200 ล้านต่อปี โดยหลักการของภาษีคือ มีรายได้มาก็ต้องจ่ายภาษี ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากอะไร ในอัตราที่เหมาะสม

ส่วนกรณีมีการลงทุนในต่างประเทศ ถ้านำเงินกลับเข้ามาต้องเสียภาษี เริ่มต้น 1 มกราคม ซึ่งต่อยอดมาจากรัฐบาลที่แล้วที่ดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลจะมีออกมาเรื่อย ๆ โดยยึดหลักว่าต้องตอบโจทย์และยุติธรรมกับทุกฝ่าย