อดีต กนง. ห่วงนโยบายรัฐ ดันหนี้สาธารณะพุ่ง สร้างภาระระยะยาว

15 ก.ย. 2566 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2566 | 15:22 น.

“พรายพล คุ้มทรัพย์” อดีตคณะกรรมการ กนง. ห่วงนโยบายรัฐ ดันระดับหนี้สาธารณะเพิ่ม สร้างภาระระยะยาว แนะใช้วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามความเหมาะสม ชี้หากเร่งเกินไปอาจกระทบเงินเฟ้อดีดตัว

หลังการแถลงนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำทัพโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก้าวขึ้นสู่การทำงานอย่างเต็มตัว พร้อมกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายคนจับตา 

ทั้งการ "แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท" และ "การพักหนี้เกษตรกร" รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ที่จะออกตามมา ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องหนี้สาธารณะที่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แตะกรอบเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่ 70% ต่อจีดีพี

โดยนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และอาจทำให้ระดับหนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้นนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

เนื่องจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะเพิ่มให้มีการขาดดุลมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสร้างหนี้ที่เพิ่มขึ้นให้กับภาครัฐรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจ ทั้งนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะสร้างภาระให้รัฐบาลประมาณ 500,000 ล้านบาท

ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ภาระก็จะตกอยู่ที่แบงก์รัฐ ในระดับแสนล้านบาท ซึ่งหากรวมทุกมาตรการ ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มการขาดดุลพอสมควร 

โดยระดับหนี้สาธารณะในขณะนี้ อาจจะยังดูไม่สูงมากในระดับ 60% ต้นๆ แต่มีความเป็นห่วงว่าในระยะข้างหน้า 1 ถึง 2 ปี หนี้สาธารณะอาจปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 65% ต่อจีดีพีได้

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

อย่างไรก็ตามการดำเนินมาตรการของรัฐบาลควรจะต้องมีความระมัดระวังตั้งแต่ต้น การดำเนินมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลถือว่ามาถูกทาง แต่ยังมีความน่าเป็นห่วงในขนาดของเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เพราะมองว่าหากใช้มากเกินไป อาจมีปัญหาเงินเฟ้อ เกิดขึ้นตามมาได้ ซึ่งจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร และเมื่อนำมาหักล้างกับ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยต้องระมัดระวังในเรื่องนี้

"อันไหนที่มันใช้เงินมากก็อาจจะลดจำนวนเงินลงได้ไหม หรือเป็นเฉพาะกลุ่มอ่ะดีเลย ผมยังคิดเลยว่าการแจกเงินอายุ 16 ขึ้นไปมากเกินไป หลายคนก็ไม่จำเป็น หลายคนก็ไม่ต้องการเปลืองเปล่าๆ" นายพรายพล กล่าว

ทั้งนี้เข้าใจว่านายกรัฐมนตรีอาจจะต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งแม้จะมีการรับฟังข้อเสนอแนะของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

แม้นายกฯ อาจจะไม่ได้แสดงความเป็นห่วง แต่ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังในการดำเนินมาตรการต่างๆ และในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด