เอกชนตรังจี้ ลดภาษีนิติบุคคล หนุนส่งออกกุ้ง-ยางพารา

15 ก.ย. 2566 | 14:36 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2566 | 14:47 น.

ภาคเอกชนตรัง จี้รัฐบาล ลดภาษีนิติบุคคล หนุนการส่งออก กลุ่มประมงเร่งแก้กฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการประมง ขณะภาคเกษตรขอนายกฯ เจรจาการค้าเปิดตลาดยางไปอินเดีย

จากกรณีที่ประเทศญี่ปุ่น ปล่อยนํ้ากัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลงสู่ทะเล ทำให้หลายประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ คัดค้านและห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ส่งผลให้อาหารทะเลในญี่ปุ่นคงค้างสต๊อกจำนวนมากนั้น
    นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจำกัด (มหาชน) และรองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตรัง เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาหารทะเลแช่แข็งไทยที่ส่งอาหารทะเลแช่แข็งไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากประชาชนญี่ปุ่นลดการบริโภค และเก็บเงินสดไม่ยอมใช้จ่าย   

นอกจากนี้ หลายประเทศสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นสั่งซื้ออาหารทะเลแช่แข็ง พร้อมบริโภคจากไทยลดลง แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น แต่ผู้ประกอบการกังวลว่า หากมีการนำเข้าย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ค้าอาหารทะเลในประเทศแน่นอน  

เอกชนตรังจี้ ลดภาษีนิติบุคคล หนุนส่งออกกุ้ง-ยางพารา

ส่วนปัญหาอื่นที่ผู้ประกอบการพบในขณะนี้ คือ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ในพื้นที่จังหวัดตรังและภาคใต้ไม่สามารถส่งไปขายประเทศสหรัฐอเมริกาได้ เพราะไม่มีคำสั่งซื้ออันเกิดจากเศรษฐกิจอเมริกาที่ไม่ขยายตัว

ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรังขอเรียกร้องให้รัฐบาล ช่วยเหลือผู้ประกอบการ คือ ลดภาษีของนิติบุคคลและอุดหนุนการส่งออก ตัวอย่างรัฐบาลจีนจะให้การสนับสนุน เรื่องภาษี กับผู้ที่ผลิตสินค้าส่งออกขาย ต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการของจีนแข็งแกร่งทางด้านการเงินและพร้อมที่จะไปสู้กับคู่แข่งประเทศอื่นๆ ได้ ซึ่งมาตรการของประเทศจีนเรื่องการลดภาษี การอุดหนุนการส่งออก ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในประเทศจีนเป็นอันมาก    

นายสฤษฏ์พัฒน์ ภมรวิสิฐ นายกสมาคมประมงกันตัง เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการประมงในประเทศไทยได้ยื่นหนังสือขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ปัญหาของชาวประมงโดยแก้กฎหมายประมง 13 ฉบับต่อนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดสมุทรสงครามแล้ว

ส่วนปัญหาของประมงกันตัง จ.ตรัง ที่พบในขณะนี้คือ ราคานํ้ามันดีเซลแพง นํ้าแข็งราคาสูง สินค้าอุปโภค บริโภคอะไหล่เครื่องจักรเรือราคาขยับขึ้นทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์อยู่ในสภาพที่ยํ่าแย่ ต้นทุนสูงขึ้น จับปลาได้น้อยลง แต่ปลาและสัตว์ทะเลราคาถูก

ขณะที่โรงงานแปรรูปอาหารทะเลรับซื้อในราคาที่ถูกลง ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงอยู่ในภาวะที่ขาดทุน หากรัฐบาลเปิดให้ปลาหรือสัตว์นํ้าจากญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย จะกระทบกับผู้ประกอบการประมงในประเทศไทยแน่นอน 

นายวิรัตน์ อันตรัตน์ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง เปิดเผย ว่า ราคายางพาราในปี 2547 สมัยรัฐบาลทักษิณ ราคายาง 45-47 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันปี 2566 ระยะเวลาห่างกัน 20 ปีราคายางไม่ขยับสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ อยากให้เจรจากับรัฐบาลจีนช่วยซื้อยางพารากิโลกรัมละ 2 ดอลลาร์สหรัฐ เพราะต้นทุนการผลิตยังอยู่ที่กิโลกรัมละ 64 บาท ซึ่งเป็นราคาที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้กำหนดขึ้นมา

รวมทั้งขอให้เจรจากับรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีความต้องการใช้ยางพาราจากไทย แต่อินเดียมีมาตรการกีดกันทางการค้า ตั้งภาษีนำเข้าไว้สูง ทำให้ไม่สามารถส่งยางไปขายยังประเทศอินเดียได้ และอยากให้รัฐบาล ดำเนินนโยบายใช้นํ้ายางสดผสมแอสฟันติก ในการทำถนนทั่วประเทศ เพิ่มยอดการใช้นํ้ายางดิบให้มาก ตลอดจนนโยบายใช้ยางพาราทำผลิตภัณฑ์ที่ภาครัฐต้องใช้ในโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มรายเกษตรกรชาวสวนยาง