ย้อนตำนาน "ช้างคู่" กระทรวงคลัง กับความเชื่อที่ "เศรษฐา"ต้องสักการะ

14 ก.ย. 2566 | 17:59 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 18:07 น.

ตำนาน "ช้างคู่" กระทรวงการคลัง กับความเชื่อ เรื่องการคล้องพวงมาลัย ที่สร้างความสะเทือนเก้าอี้ขุนคลังมาแล้วหลายสมัย

วันนี้ (14 ก.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเข้ากระทรวงเป็นวันแรก และได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง โดยเริ่มจากพระพรหมเอราวัณ , ศาลพระภูมิเจ้าที่ , พระคลังมหาสมบัติ และ อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5  หลังจากนั้น ได้เข้าสักการะ ช้างคู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลัง โดยมีธรรมเนียมว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ จะต้องคล้องพวงมาลัยหลังช้าง หากพวงมาลัยขาดถือเป็นฤกษ์ที่ไม่ดี 

ทั้งนี้ปรากฏว่า เมื่อเวลา 13.14 น. นายเศรษฐา ได้ทำการคล้องพวงมาลัยช้างคู่ผ่านไปอย่างราบรื่นไม่ขาดทั้งสองฝั่งแต่อย่างใด และมีสีหน้าที่ยิ้มแย้มตลอดเวลาที่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามจุดต่างๆของกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะขึ้นตึกไปร่วมประชุมมอบนโยบายให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ ของกระทรวงการคลังที่ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 

ย้อนตำนาน \"ช้างคู่\" กระทรวงคลัง กับความเชื่อที่ \"เศรษฐา\"ต้องสักการะ

เปิดประวัติ ช้างคู่ กระทรวงการคลัง

ศาสตราจารย์ไพจิตร โรจนวานิช ประธานมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ อดีตปลัดกระทรวงการคลังเคยได้เล่ารายละเอียดที่มาของช้างคู่ที่ตั้งประจำกระทรวงการคลังเอาไว้ว่า เริ่มจากการที่กระทรวงการคลังร่วมกับกรมตำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2496 จัดตั้งโรงแรมเอราวัณขึ้นมารับแขกเมืองเป็นโรงแรมของรัฐบาล โดยระหว่างก่อสร้างพบปัญหาอุปสรรคบางประการ จึงได้เชิญหลวงสุวิชาญแพทย์ มาดูว่าต้องทำอย่างไรจึงจะให้ราบรื่น

ผลปรากฏว่าชื่อโรงแรมเอราวัณเนื่องจากเป็นช้างของพระพรหมจึงต้องทำพิธีบวงสรวงทุกปี หลังจากตั้งศาลท่านท้าวมหาพรหมแล้วได้มีผู้มีจิตศรัทธามากราบไหว้จำนวนมาก จนกระทั่งประมาณกลางปี 2530  ด้วยแรงศรัทธาชาวสิงคโปร์ซึ่งเลื่อมใสในท้าวมหาพรหมจึงนำถวายสักการะเป็นช้างขนาดใหญ่ 

ย้อนตำนาน \"ช้างคู่\" กระทรวงคลัง กับความเชื่อที่ \"เศรษฐา\"ต้องสักการะ

ต่อมาในปีเดียวกันมีการปรับปรุงโรงแรมเอราวัณต้องมีการก่อสร้างใหม่ สถานที่ก่อสร้างจำกัดจึงจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออก ซึ่งในเวลาดังกล่าวมองว่ากระทรวงการคลังเป็นสถานที่ที่เหมาะสม จึงเคลื่อนย้าย มาในวันที่ 25 มีนาคม 2531  และต่อมาในปี 2533  ได้เคลื่อนย้ายไปยัง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร และวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีตามลำดับ

และในปี 2539 ได้ขอคืนท่านเจ้าอาวาสกลับมาพักอยู่ที่ศาลท้าวมหาพรหมได้ 2-3 วันและในที่สุดก็ขนย้ายมายังกระทรวงการคลังในช่วงต้นปี 2540 จนกระทั่งปี 2557  สมัยนายสมหมาย ภาษี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ส่งไปบูรณะซ่อมแซมที่กรมศิลปากรนานกว่า 5 ปี จากกำหนดการเดิมแค่ 18 เดือน ก่อนนำกลับมาตั้งไว้ที่กระทรวงการคลังอีกครั้งในวันที่ 12 กันยายน 2563

ความเชื่อคล้องพวงมาลัยช้างคู่สะเทือนเก้าอี้ขุนคลัง

‘ช้างคู่’ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลัง เมื่อมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายรัฐมนตรี หรือข้าราชการระดับสูง ต้องเข้าไหว้สักการะ และมีความเชื่อว่าคล้องพวงมาลัยให้ช้างคู่ต้องห้ามขาด หรือ ห้ามขยับเคลื่อนย้ายตำแหน่งของช้าง เพราะจะส่งผลต่อตำแหน่ง

หากย้อนกลับไปในอดีตในยุคของ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงของการคล้องพวงมาลัย ปรากฏว่าพวงมาลัยขาด หลังจากนั้น ม.ร.ว.ปรีดียาธร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เพียง 3 เดือน ในยุคของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะลาออกไป

หรือแม้กระทั่งในยุคของนายสมหมาย ภาษี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีการขนย้ายช้างไม้คู่ไปซ่อมแซม ก็มีรายงานว่าในขณะนั้นได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายทำให้กระทรวงการคลังขาดความน่าเชื่อถือหลายเรื่อง เช่น ไม่มีเงินจ่ายเบี้ยคนชราและคนพิการ รวมถึงการเรียกร้องเงินเราไม่ทิ้งกัน และในช่วงเดือนมิถุนายนมีฟ้าผ่าใหญ่ที่กระทรวงการคลัง จนท้ายที่สุดก็มีเหตุให้ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ ส่งผลให้นายสมหมาย พ้นจากตำแหน่งหลังทำงานได้เพียง 1 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีกรณีของ นายปรีดี ดาวฉาย ที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่ช้างไม้คู่จะถูกส่งกลับมาที่กระทรวงการคลัง หลังจากนำไปส่งซ่อมแซม