“ตลาดของคนอยากนอน” เติบโตสูงชี้ เป็นโอกาสอาหารเสริม-ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

09 ก.ย. 2566 | 11:02 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2566 | 11:21 น.

สนค. เผยแนวโน้มตลาดของคนอยากนอน โตต่อเนื่อง หลังเกิดภาวะความเครียดและวิตกกังวลสูง ชี้เป็นโอกาสในการทำตลาดสินค้า ชี้ไทยมีสมุนไพรที่มีศักยภาพ แนะสร้างจุดขายชูความเป็นธรรมชาติ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในวิถีชีวิตที่เร่งรีบและมีการแข่งขันสูง ทำให้เกิดภาวะความเครียดและวิตกกังวล สิ่งที่ตามมา คือ การนอนไม่หลับ ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

เนื่องจากทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของประชากรลดลง “Sleep Economy” หรือ “Sleep-Health Economy” จึงเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามอง โดยปัจจุบันมีการพัฒนาสินค้าและบริการที่ช่วยให้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น

และมีการคาดการณ์มูลค่า Sleep Economy หรือเศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอนของโลกว่า ในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตเป็น 585,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 432,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 สะท้อนความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการการนอนหลับอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

“ตลาดของคนอยากนอน” เติบโตสูงชี้  เป็นโอกาสอาหารเสริม-ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

สำหรับข้อมูลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทย30% หรือประมาณ 21 ล้านคน นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน เช่นเดียวกับหลายประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา สิงค์โปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น ที่มีชั่วโมงการนอนใกล้เคียงกัน โดยจากปัญหาการนอนตลาดของคนนอนไม่หลับจึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าและบริการที่ช่วยในเรื่องการนอน โดยในปี 2562 อุตสาหกรรมที่ช่วยเรื่องการนอนไม่หลับในตลาดโลก มีมูลค่า 432,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นกลุ่มเครื่องนอน มูลค่า 194,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 45%

“ตลาดของคนอยากนอน” เติบโตสูงชี้  เป็นโอกาสอาหารเสริม-ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

กลุ่มเฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องนอน มูลค่า 106,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 25% ผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม และบริการทางแพทย์ มูลค่า 58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  13% กลุ่มเทคโนโลยีการนอน บริการ แอปพลิเคชันที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ และอื่น ๆ มูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 10% และกลุ่มชุดนอน มูลค่า 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  7%

“ตลาดของคนอยากนอน” เติบโตสูงชี้  เป็นโอกาสอาหารเสริม-ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

สำหรับตลาดของคนนอนไม่หลับในประเทศไทย เดิมอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันขยายตัวไปสู่กลุ่มคนทำงานและวัยรุ่น เช่นเดียวกับทิศทางของโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน ช่วงอายุ 18-40 ปี ที่กำลังประสบปัญหานอนไม่หลับ หรือนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับ และเป็นตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยสามารถนำผลิตภัณฑ์ของไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (ครีมที่มีกลิ่นและส่วนผสมช่วยให้ผ่อนคลาย) กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือเครื่องดื่มและสารสกัดต่าง ๆ เช่น วิตามินบี แมกนีเซียม เมลาโทนิน กาบา และแอลธีอะนีน นำมาผสมผสานกับสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยในการนอนหลับ ให้มีรสและกลิ่นที่แปลกใหม่ เช่น ใบบัวบก ขิง มะนาว มะลิ ฟ้าทะลายโจร และมะเฟือง

“ตลาดของคนอยากนอน” เติบโตสูงชี้  เป็นโอกาสอาหารเสริม-ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

 นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรที่ช่วยในการรักษาโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือบรรเทาความเครียด เช่น สารสกัดจากใบชา และบัวบก ที่มีสารแอลธีอะนีน ใช้เป็นยาในศาสตร์อายุรเวท และการแพทย์แผนจีน ช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล น้ำมันรำข้าว และจมูกข้าว มีสารกาบา ช่วยผ่อนคลายความกังวล ทำให้นอนหลับ ฟักทอง มีสารเบต้าแคโรทีน ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine: NE) ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า และจากผลการศึกษาทางคลินิกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าสารเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoid) ในเหง้าขมิ้นชันมีสรรพคุณช่วยลดความเครียดได้ร้อยละ 62.5 ของจำนวนผู้รับทดสอบ

“ตลาดของคนอยากนอน” เติบโตสูงชี้  เป็นโอกาสอาหารเสริม-ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

 อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองและผ่อนคลายความเครียดมีการขยายตัวต่อเนื่องทั่วโลก มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดสมุนไพรที่มีแนวโน้มเติบโตเร็วถึง 9.2% ในช่วงระยะเวลา 8 ปี (ปี 2564 - 2571) สอดคล้องกับข้อมูลของ iiMedia Research (2021) โดยตลาดจีนมีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการนอนเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ช่วยนอนหลับ อาหารเสริม เจลลี่นอนหลับ เครื่องนอน และที่อุดหูผ้าปิดตา เป็นต้น

“ตลาดของคนอยากนอน” เติบโตสูงชี้  เป็นโอกาสอาหารเสริม-ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

 “ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกำลังเติบโต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองและผ่อนคลายความเครียดที่ใช้สารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งผู้บริโภคให้ความสนใจและมั่นใจในความปลอดภัยจากการใช้สารสกัดจากธรรมชาติหรือสมุนไพร มากกว่าการใช้ยาหรือสารสกัดจากการสังเคราะห์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว จึงเป็นโอกาสของไทยต่อตลาด Sleep Economy ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทย”