“ทางหลวง” ผุดเฟสแรกสร้าง “มอเตอร์เวย์นครปฐม-ปากท่อ” 4.3 หมื่นล้าน

06 ก.ย. 2566 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2566 | 09:52 น.
2.6 k

“ทางหลวง” นำร่องเฟสแรก ชงครม.ใหม่ เคาะสร้าง “มอเตอร์เวย์นครปฐม-ปากท่อ” 4.3 หมื่นล้านบาท ภายในปี 67 ลุ้นเปิดประมูลดึงเอกชนร่วมทุน PPP ภายในปี 68 พร้อมเปิดให้บริการปี 73

ปัจจุบัน “ทางหลวง” เร่งรัดก่อสร้างมอเตอร์เวย์หลายโครงการ 1 ในนั้นคือ “มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ” ซึ่งเป็นมอเตอร์เวย์สายใต้ ที่จะทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของผู้ใช้บริการในอนาคต

 

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 8 หรือ M8 สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร (กม.) เบื้องต้นโครงการฯได้แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กิโลเมตร (กม.) และ ช่วงที่ 2 ช่วงปากท่อ-ชะอำ 48 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งกรมฯจะเริ่มดำเนินการนำร่องช่วงนครปฐม-ปากท่อ วงเงิน 43,227 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธา 29,156 ล้านบาท งานระบบ 1,783 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 12,288 ล้านบาท โดยกรมฯ คาดว่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่พิจารณารูปแบบการลงทุนในช่วงแรกก่อน ภายในปี 2567

“กรมฯต้องรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่มาก่อน หลังจากนั้นจะเสนอให้พิจารณาได้ เนื่องจากโครงการฯช่วงนครปฐม-ปากท่อ ยังมีขั้นตอนรายละเอียดพอสมควร ซึ่งจะต้องมีการเวนคืนที่ดินด้วย เพราะเป็นแนวใหม่ โดยกรมฯมีรูปแบบดำเนินโครงการฯในช่วงนี้แล้ว ขณะเดียวกันการจัดรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับความเห็นชอบแล้ว เพียงแต่มีการแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติม เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งเดิมใน EIA ไม่ตรงกัน ซึ่งจะต้องอัพเดตให้สอดรับกับการออกแบบโครงการฯในปัจจุบัน”

 

นายปิยพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (เริ่มตั้งแต่ปี 2567-2571) หาก ครม. ใหม่พิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเวนคืนที่ดินภายในปี 2568-2569 หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2568 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเร็วสุดได้ภายในปี 2569 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2573

ส่วนกรณีที่มีชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างโครงการฯ นั้น เบื้องต้นพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะคัดค้านการก่อสร้างช่วงปากท่อ-ชะอำ เนื่องจากชาวบ้านมีความกังวลโครงการฯจะกระทบต่อแนวเส้นทางเข้าเมือง รวมทั้งผ่านแนวพื้นที่เวนคืนที่ดินบริเวณสวนตาล โดยกรมฯได้ทำความเข้าใจเพื่อชี้แจงแก่ชาวบ้านแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กรมฯต้องแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง ซึ่งช่วงนครปฐม-ปากท่อ ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นพื้นที่โล่ง หากดำเนินการก่อสร้างในช่วงแรกแล้ว กรมฯจะพิจารณาทบทวนช่วงปากท่อ-ชะอำอีกครั้ง คาดว่าจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย

 

 

ทั้งนี้การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม – ชะอำ (M8) จะใช้รูปแบบ PPP Gross Cost โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา ขณะที่เอกชนร่วมลงทุนในการติดตั้งระบบ ดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) สัญญาสัมปทาน 32 ปี

 

 ด้านการก่อสร้างของโครงการฯ จำนวน 4 ช่องจราจร โดยมีรูปแบบของถนนระดับพื้น ดังนี้ 1.ช่องสายทางที่ไม่มีทางบริการ เขตทางกว้าง 80 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องละ 3.60 เมตร ไหล่ทางด้านอก 3.00 เมตร ไหล่ทางด้านใน 1.00 เมตร เกาะกลางแบบ Depressed Median 2.ช่องสายทางที่มีทางบริการ เขตทางกว้าง 120 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องละ 3.60 เมตร ไหล่ทางด้านอก 3.00 เมตร ไหล่ทางด้านใน 1.00 เมตร เกาะกลางแบบ Depressed Median

“ทางหลวง” ผุดเฟสแรกสร้าง “มอเตอร์เวย์นครปฐม-ปากท่อ” 4.3 หมื่นล้าน

  สำหรับแนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม – ชะอำ (M8) แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กิโลเมตร (กม.) จุดเริ่มต้นโครงการต่อเชื่อมกับ M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม สิ้นสุดเชื่อมต่อมายังทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

 

นอกจากนี้ในช่วงที่ 2 ปากท่อ-ชะอำ ระยะทาง 48 กิโลเมตร (กม.) จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับช่วงที่ 2 บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) อ.ปากท่อ สิ้นสุดเชื่อมต่อมายังถนนเพชรเกษม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาแนวทางในการดำเนินการ โดยตลอดเส้นทางประกอบด้วยด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.ด่านนครชัยศรี 2.ด่านตลาดจินดา 3.ด่านบางแพ 4.ด่านราชบุรี 5.ด่านวัดเพลง 6.ด่านปากท่อ 1 7.ด่านปากท่อ 2 8.ด่านเขาย้อย และ 9.ด่านท่ายาง