ครม.เคาะโซนนิ่งเปิด "สถานบริการ" 24 ชั่วโมง รับเมืองการบินภาคตะวันออก

29 ส.ค. 2566 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2566 | 14:56 น.

ครม.ไฟเขียวร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดโซนนิ่งพื้นที่ให้ตั้ง “สถานบริการ” เปิดบริการได้ 24 ชั่วโมง ภายใต้เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (29 สิงหาคม 2566) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดระยอง (ฉบับที่...) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นการกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) ภายในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง

ทั้งนี้ เพื่อให้การตั้งสถานบริการในท้องที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อันจะเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในจังหวัดระยอง สอดรับกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก

สำหรับเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) จะตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก มีพื้นที่รวมประมาณ 2,662 ไร่ ซึ่งจะสามารถจัดตั้งกิจกรรมสันทนาการที่เข้าข่ายสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และพื้นที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการจำหน่ายและช่วงเวลาการจำหน่าย และจะอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมและกำกับดูแลความสงอย่างเคร่งครัด

 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ การออกร่างพระราชกฤษฎีกาฯ นี้จะสอดรับกับที่กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงเรื่องกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา กล่าวคือ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จะกำหนดพื้นที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งสถานบริการภายในเขตส่งเสริมเมืองการบินให้ชัดเจน ส่วนกฎกระทรวงฯ จะเป็นการอนุญาตให้สถานบริการที่ตั้งในพื้นที่ที่กำหนดนี้สามารถเปิดบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

โดยเป็นการส่งเสริมศักยภาพเมืองการบินภาคตะวันออก สามารถรองรับนักธุรกิจ ผู้เดินทาง นักท่องเที่ยว และผู้ใช้บริการสนามบินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันก็เป็นการบริหารจัดการพื้นที่ให้สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยรวมด้วย

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีตามนโยบายของรัฐบาล มีเป้าหมายคือยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี 

พร้อมส่งเสริมให้อีอีซีสามารถเป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออกอย่างสะดวก ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่อาเซียน

 

ทีมรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติครม. วันนี้

รายละเอียดของเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกในสนามบินอู่ตะเภา ประกอบด้วย โครงการหลักหลายโครงการ ประกอบด้วย

  • อาคารผู้โดยสารที่รองรับเที่ยวบินพาณิชน์ขนส่งผู้โดยสาร
  • ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน
  • ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul)
  • เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Cargo Village or Free Trade Zone)
  • ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex)
  • ศูนย์ฝึกอบรมการบิน (Aviation Training Centre)