งานเข้า ทช. ชาวบ้านยื่นหนังสือค้าน สร้างถนนต่อเชื่อม "นครอินทร์"

23 ส.ค. 2566 | 19:21 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2566 | 15:40 น.

ชาวบ้านโวยหนัก บุกกสม.ยื่นหนังสือค้านสร้างถนนต่อเชื่อมนครอินทร์ 5,000 ล้านบาท หวั่นกระทบชุมชน-ทำลายระบบนิเวศ

นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กล่าวว่า นายบุญลือ เจริญมี ประธานสหกรณ์ ที่ดินบ้านคลองโยง จำกัด เข้ายื่นหนังสือต่อลกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณาไต่สวน เพื่อทบทวนยุติโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา - นครชัยศรี จ. นครปฐม ซึ่งกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม และสิทธิชุมชนของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง

 

"จะนำข้อร้องเรียนดังกล่าว เสนอเข้าคณะกรรมการกลั่นกรอง ว่ามีความจำเป็นประสานเพื่อคุ้มรองสิทธิเบื้องต้นหรือไม่ เพราะชาวบ้านต่างมีความกังวลที่ดูมีความเร่งรีบในแผนการดำเนินการโครงการเพื่อให้เสร็จในเดือนกันยายนนี้"

สำหรับการยื่นหนังสือในครั้งนี้ ระบุว่า สหกรณ์ที่ดินคลองโยง จำกัด จึงขอเรียกร้องมายังกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อโปรดพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงและเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติโครงการถนนดังกล่าวนี้ ด้วยความไม่คุ้มการลงทุนด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งกรมฯควรพิจารณาทางเลือกไปพัฒนาขยายและซ่อมสร้างถนนที่มีอยู่อย่างมากมายอยู่แล้วให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น ฯลฯ แทนที่จะนำเงินจำนวนมหาศาลมาลงทุน

 

ทั้งนี้โครงการฯถือเป็นการทำลายชีวิตชุมชนชาวนาดั้งเดิม พื้นที่โฉนดชุมชน และหายนะด้านความเปลี่ยนแปลงเชิงนิเวศที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่เกษตรกรรมทุ่งนครชัยศรีแห่งนี้ และเสนอแนะให้กรมทางหลวงชนบทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแสวงหาทางเลือกในการแก้ไขจราจรแบบยั่งยืนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ พื้นที่เกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์

สหกรณ์ที่ดินคลองโยงยังเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย นับเป็นต้นแบบของการปฏิรูปที่ดินซึ่งชุมชนถือกรรมสิทธิ์ร่วม ต้นแบบเพื่อการรียนรู้การบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชนที่มีผู้คน องค์กร เครือข่ายองค์กรต่าง โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งสถาบันการศึกษา ฯลฯ มาศึกษาเรียนรู้จำนวนมาก

 

ขณะเดียวกันการตัดถนนขนาดใหญ่กว้าง 40 เมตรผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชน จะทำลายระบบนิเวศของชุมชนเกษตรกรรมส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนซึ่งทำเกษตรกรรมด้านอาชีพ รายได้ ฯลฯ ถนนฯ จะสร้างความยากลำบากให้กับชีวิตผู้คนซึ่งเป็นเกษตรกร และส่งผลกระทบต่อความเป็นโฉนดชุมชนที่จะล่มสลายไปจากผลของความเปลี่ยนแปลงในที่สุด

 

นอกจากนี้โครงการอ้างว่าถนนดังกล่าวจะสร้างความเจริญให้กับจังหวัดนครปฐม แต่การตัดถนนผ่านทุ่งนครชัยศรีพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ที่ยังคงเหลืออยู่ และพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดนครปฐมที่เป็นแหล่งอาหารสำหรับคนในเมืองและเพื่อการส่งออก แต่โครงการนี้กลับขัดแย้งกับวิสัยทัศน์จังหวัดนครปฐมอย่างสิ้นเชิง

 

สำหรับกรณีปัญหาและผลกระทบดังกล่าว ชาวบ้านคลองโยง ยังเดินทางไปที่อาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภา เข้ายื่นหนังสือถึงพรรคก้าวไกล ผ่านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ขอให้ติดตาม เพื่อทบทวนยุติโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา - นครชัยศรี จ. นครปฐม ที่กระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงกระทบสิทธิชุมชนในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง พร้อมเรียกร้องให้เร่งติดตามปัญหาเพื่อให้เกิดการทบทวนปัญหาการจัดเก็บภาษาที่ดินฯ หวั่นชุมชนล่มสลาย หากสองเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขได้

 

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนได้รับทราบปัญหาดังกล่าว ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นถึงความเดือร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสามารถที่จะใช้กลไกสภาเข้ามาจัดการปัญหาได้ ทั้ง คณะกรรมาธิการคมนาคม กรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

 

นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า โฉนดชุมชน ถือเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินแบบหนึ่งซึ่งมีความชัดเจนในการดำเนินวัตถุประสงค์เฉพาะ และระบุไว้ว่า เพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ทั้งนี้ ยังเห็นว่าที่ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่ามีการเร่งรีบโครงการผิดปกติ อาจเป็นเพราะช่วงนี้ใกล้ที่จะมีการพิจารณา พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี อย่างไรก็ตามปัญหาและข้อกังวลของชาวบ้าน สามารถใช้ช่องทางนิติบัญญัติเพื่อตรวจสอบติดตามได้