สายดำน้ำ สะดุ้ง! ครม.เคาะกฎหมายคุมหวั่นทำลาย "ปะการัง" โทษถึงคุก

24 ส.ค. 2566 | 05:15 น.

สายท่องเที่ยวดำน้ำ ควรต้องฟัง ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป้องกันความเสียหายที่เกิดกับแนวปะการัง หลังพบเสียหายและเสื่อมโทรม พร้อมกำหนดโทษหนักถึงจำคุก

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 สิงหาคม 2566 มีเรื่องน่าสนใจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกิจกรรม ท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการัง หลังจากที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เสนอ

สาระสำคัญ : เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำในแนวปะการัง เพื่อประโยชน์ในการสงวนคุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง

เหตุผลความจำเป็น : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ รายงานว่า ปัจจุบันแนวปะการังของประเทศไทย 50% อยู่ในสภาพเสียหายและเสื่อมโทรม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการัง ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำตื้นและการดำน้ำลึก ส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อแนวปะการังเป็นอย่างมากโดยในหลายพื้นที่เข้าขั้นวิกฤติ

 

สายดำน้ำ สะดุ้ง! ครม.เคาะกฎหมายคุมหวั่นทำลาย \"ปะการัง\" โทษถึงคุก

โดยสาเหตุหลักมีที่มาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวดำน้ำที่ถูกวิธี และขาดการควบคุมกำกับดูแลอย่างทั่วถึง เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีมากขึ้น ขณะที่คนนำเที่ยวมีจำกัด รวมทั้งขาดจิตสำนึกและความตระหนักในการอนุรักษ์ดูแลแนวปะการัง 

อีกทั้งภาครัฐยังไม่มีมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำกับดูแลการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการังที่สามารถ บังคับใช้ในทางกฎหมายและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความเสียหายที่เกิดกับแนวปะการังอันเกิดจากการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำเป็นการเฉพาะ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จึงได้ยกร่างประกาศกระทรวงฉบับนี้ขึ้น

 

สายดำน้ำ สะดุ้ง! ครม.เคาะกฎหมายคุมหวั่นทำลาย \"ปะการัง\" โทษถึงคุก

รายละเอียดของร่างประกาศ

ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. .... กำหนดห้ามมิให้ดำเนินการในบริเวณแนวปะการัง ดังนี้

  • ห้ามเตะหรือสัมผัสปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใด 
  • ห้ามดำเนินกิจกรรม Sea Walker และห้ามดำน้ำ โดยวิธีอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเดินหรือเคลื่อนที่บนพื้นทะเล
  • ห้ามเคลื่อนย้ายปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใด ๆ มาให้นักท่องเที่ยวดู
  • ห้ามกระทำด้วยประการใด ๆ อันก่อให้เกิดตะกอนตกทับ หรือปกคลุมปะการัง หรือทำให้ปะการังได้รับความเสียหาย
  • ห้ามใช้ตีนกบโดยส่วนใดส่วนหนึ่งของตีนกบสัมผัสปะการัง และห้ามไม่ให้เตะตีนกบในลักษณะที่จะทำให้เกิดตะกอนฟังจนตกทับหรือปกคลุมปะการัง หรือทำให้ปะการังได้รับความเสียหาย
  • ห้ามให้อาหารป่าหรือสัตว์น้ำ
  • ห้ามทิ้งขยะหรือปล่อยของเสียทุกชนิดในทะเล 
  • ห้ามทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง และบนพื้นทะเลในระยะรัศมี 3 เมตร จากแนวปะการัง
  • ห้ามผูกเชือกกับปะการังเพื่อทำแนวหุ่น

ทั้งนี้ยังกำหนดให้การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้

  • การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำตื้น ให้มีผู้ควบคุม 1 คนต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน และกรณีนักท่องเที่ยวเกิน 20 คน ให้มีผู้ช่วยผู้ควบคุมเพิ่มในอัตราส่วน 1 คนต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน
  • การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำลึก นักท่องเที่ยวต้องผ่านการเรียนดำน้ำลึก โดยให้มีผู้ควบคุมหนึ่งคนต่อนักดำน้ำลึกไม่เกิน 4 คน
  • กิจกรรมทดลองการเรียนดำน้ำลึก ให้มีผู้ควบคุม 1 คนต่อผู้เรียนไม่เกิน 2 คน
  • การเรียนดำน้ำลึกและการสอบดำน้ำลึก ให้มีผู้ควบคุม 1 คนต่อผู้เรียนไม่เกิน 4 คน และให้กระทำบนพื้นทรายนอกแนวปะการัง
  • ให้ผู้ควบคุมและผู้ช่วยควบคุมแจ้งกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง วิธีปฏิบัติที่ดีในการดำน้ำโดยไม่กระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ต่อนักท่องเที่ยวก่อนที่จะเริ่มต้นกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ
  • ให้ผู้ควบคุมและผู้ช่วยควบคุมสอดส่องและป้องกันไม่ให้มีการฝ่าฝืนมาตรการข้างต้น
  • ในกรณีที่มีการใช้ตีนกบ ผู้ควบคุมจะต้องแจ้งวิธีการ ควบคุมตีนกบมิให้กระทบต่อปะการังแก่นักท่องเที่ยว และต้องทดสอบความสามารถในการควบคุม ก่อนที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าใกล้แนวปะการังด้วย
  • ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวดำน้ำตื้นโดยไม่สวมเสื้อชูชีพ ในบริเวณแนวปะการัง เว้นแต่เป็นการดำน้ำตื้นโดยบุคคลที่ได้สอบผ่านหลักสูตรดำน้ำลึก หรือหลักสูตรดำน้ำอิสระ

 

สายดำน้ำ สะดุ้ง! ครม.เคาะกฎหมายคุมหวั่นทำลาย \"ปะการัง\" โทษถึงคุก

 

ขณะเดียวกันยังกำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกิจกรรมดำน้ำลึกในแนวปะการัง ดังนี้ 

1.ในระหว่างการเรียนหรือสอบดำน้ำลึก ห้ามนักเรียน หรือครูสอนดำน้ำถ่ายภาพใต้น้ำ เว้นแต่จะได้จัดให้มีบุคคลเพื่อทำหน้าที่ถ่ายภาพเป็นการเฉพาะ โดยบุคคลที่ทำหน้าที่ถ่ายภาพต้องสอบผ่านหลักสูตรดำน้ำในระดับที่ Advanced Open Water ของสถาบัน PADI หรือสถาบัน SSI หรือระดับ Advanced Scuba Diver ของสถาบัน NAUI หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือต้องมีประสบการณ์การดำน้ำตั้งแต่ 40 ไดฟ์ขึ้นไป

2.ในการท่องเที่ยวดำน้ำลึก ห้ามนำกล้องลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ เว้นแต่เป็นการถ่ายภาพใต้น้ำโดยบุคคลที่ผ่านหลักสูตรดำน้ำในระดับที่ Advanced Open Water ของสถาบัน PADI หรือสถาบัน SSI หรือระดับ Advanced Scuba Diver ของสถาบัน NAUI หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือต้องมีประสบการณ์การดำน้ำตั้งแต่ 40 ไดฟ์ขึ้นไป

นอกจากนี้ตามกฎกระทรวงยังกำหนดห้ามดำน้ำตื้นในแนวปะการังในช่วงเวลาน้ำลง เว้นแต่ระดับน้ำจะสูงกว่า 2 เมตรจากยอดแนวปะการัง พร้อมทั้งกำหนดให้การดำเนินการตามประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับ กิจกรรมที่มิใช่กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เช่น การดำน้ำเพื่อการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การดำน้ำเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภายใต้การกำกับของหน่วยงานพื้นที่ที่รับผิดชอบ

พร้อมทั้งกำหนดให้ในกรณีที่มีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครอง ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเรื่องใดไว้ โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำหนดไว้ดังกล่าว ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

กำหนดบทลงโทษหนักถึงจำคุก

สำหรับมาตรการตามร่างประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 5 ปี มาตรการดังกล่าวจะไม่ใช้บังคับกับกิจกรรมที่มิใช่กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เช่น การดำน้ำเพื่อการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การดำน้ำเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้การกำกับของหน่วยงานพื้นที่ที่รับผิดชอบ 

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรการดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ