“บาตามัส” ทุเรียนชายแดนใต้ ผลผลิตจากการเรียนรู้ “ศาสตร์พระราชา”

14 ส.ค. 2566 | 18:02 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2566 | 18:30 น.
733

ฐานเศรษฐกิจ พาลงพื้นที่สวนทุเรียน ติดตามผลสำเร็จของสุดยอดทุเรียนชายแดนภาคใต้ “บาตามัส” หมอนทองคุณภาพดี ผลผลิตจากการเรียนรู้ “ศาสตร์พระราชา” พัฒนาองค์ความรู้ แก้ปัญหาความยากจนเกษตรกรในพื้นที่

จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของการปลูกทุเรียนมายาวนานหลายช่วงอายุคน โดยเฉพาะสายพันธุ์ดั้งเดิม ต่อมาเริ่มมีการปลูกเพื่อการค้ามากขึ้น แต่ก็เป็นการปลูกแบบตามมีตามเกิด ปล่อยไปตามธรรมชาติ ทำให้คุณภาพของทุเรียนที่ออกมานั้นตกเกรด และถูกกดราคา จนสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่

ทั้ง ๆ ที่ รสชาติทุเรียนของทางภาคใต้นั้น นับว่ามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ไหน เป็นเพราะแร่ธาตุในดิน และพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่มักอยู่ตามเชิงเขา ทำให้เนื้อของทุเรียนที่ออกมามีความนุ่มละมุน กลิ่นไม่แรง โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์ยอดนิยมอย่างหมอนทอง หรือมีชื่อภาษามลายูว่า “บาตามัส” ที่ตอนนี้มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายรวมพื้นที่กว่า 1.35 แสนไร่  

โดยจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุด คือ ยะลา ประมาณ 96,200 ไร่ รองลงมาคือ นราธิวาส 3 หมื่นไร่ และปัตตานี 8,000 ไร่ โดยทุเรียนรุ่นแรกจะออกตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน และมีผลผลิตมากในช่วงกรกฎาคม – กันยายน แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย

 

สุดยอดทุเรียนชายแดนภาคใต้ “บาตามัส” หมอนทองคุณภาพดี

ฐานเศรษฐกิจ มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เพื่อไปดูผลจาการส่งเสริมพัฒนาทุเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเดิมทีนั้น อย่างที่บอกว่าชาวบ้านปลูกแบบตามมีตามเกิด จึงทำให้ผลผลิตคุณภาพต่ำ และถูกกดราคา ทั้งที่ทุเรียนภาคใต้นับเป็นของดีและสามารถพัฒนาสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้อีกเป็นจำนวนมาก

โดยการเข้าไปพัฒนาถูกกำหนดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกเกษตรกร การให้ความรู้ในการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้ได้คุณภาพ การพัฒนาอาสาสมัครทุเรียนคุณภาพทำหน้าที่ในการสนับสนุน รวมทั้ง การเตรียมแผนการดำเนินงานด้านอื่น ๆ ตาม “ศาสตร์พระราชา” 

ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ด้านน้ำ ดิน องค์ความรู้ทั้งการผลิต โรคพืช แมลง การเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด เชื่อมโยงกับแหล่งรับซื้อทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรนำไปเป็นแบบอย่าง และยังแก้ไขปัญหาความยากจนและลดเงื่อนไขในมิติความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

 

สวนทุเรียนหมอนทอง จังหวัดชายแดนภาคใต้

เริ่มต้นพัฒนาทุเรียนคุณภาพ 

สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้เข้าไปพัฒนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2561 โดยตั้งโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชา จังหวัดชายแดนใต้ หรือ “โครงการทุเรียนคุณภาพ” ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โดยเริ่มแรกนั้นมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการไม่กี่สิบคนเท่านั้น

กระบวนการดำเนินงานของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้ดึงหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน รวมมือกันโดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นั่นคือ เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา เริ่มต้นลงมือทำแบบง่าย ๆ ก่อนรวมกลุ่มกัน และเสริมความรู้ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนา

 

สุดยอดทุเรียนชายแดนภาคใต้ “บาตามัส” หมอนทองคุณภาพดี

 

เริ่มต้นจากการทำความ “เข้าใจ” พบว่า สาเหตุของปัญหามาจากคุณภาพของทุเรียนที่ขาดการดูแลที่ดีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การดูแล การบำรุงต้นไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่ทำให้มีหนอนเจาะเมล็ด ผลมีหนามแดง ต้องจำหน่ายแบบเหมาสวน 

จากนั้นจึง “เข้าถึง” เกษตรกรโดยการคัดเลือกคนที่หัวไวใจสู้และมีความพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพทุเรียนมาเข้าร่วมกับโครงการก่อน โดยจัดทำคู่มือการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพและจัดทำขั้นตอนในการดำเนินงานโครงการตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง 

ก่อนเข้าสู่กระบวนการ “พัฒนา” เริ่มจากต้นทาง คือการให้ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่การจัดการดินและน้ำในแปลง การดูแลตามระยะการเจริญเติบโต การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลางทางคือการติดตามความก้าวหน้าและให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอนจนถึงการเก็บเกี่ยวให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ คือ ทุเรียนต้องไม่อ่อน ปริมาณแป้งไม่ต่ำกว่า 32% 

ส่วนปลายทางคือเชื่อมโยงตลาดพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนในการรับซื้อทุเรียน เพื่อสร้างมาตรฐานการรับซื้อ การคัดคุณภาพ และการรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนั้น ตั้งอยู่บนเป้าหมายสำคัญคือ เกษตรกรได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบไม่รู้ตัว ก่อนจะถ่ายทอดวิธีการต่าง ๆ ไปให้กับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการรายอื่น ๆ ต่อไป

 

สุดยอดทุเรียนชายแดนภาคใต้ “บาตามัส” หมอนทองคุณภาพดี

 

เพิ่มรายได้จาก 6 หมื่น เป็น 2 แสน

จากการเข้าไปพัฒนาคุณภาพทุเรียน ถือว่า ประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีแรกของโครงการฯ เมื่อสามารถเพิ่มผลผลิตทุเรียนคุณภาพจาก 800 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,571 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ รวม 402.02ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากรายละ 60,000 บาทต่อปี เป็น 262,731 บาทต่อปี 

จำนวนเกษตรกรที่เคยได้รับความรู้จากสถาบันฯ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2561 – 2565 มีจำนวน 1,229 ราย จำนวนต้นทุเรียน 48,634 ต้น ในพื้นที่ปลูก 2,432 ไร่ มีแปลงทุเรียนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวม 770 คน และมีเกษตรกรที่สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพรวม 90 ราย 

เมื่อเทียบกับงบประมาณดำเนินการ 61.68 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนความคุ้มค่าต่อการลงทุน 6.47 เท่า ส่วนในปี 2566ประเมินว่า จะมีผลผลิต 700 ตัน จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรวม 59.5 ล้านบาท (ที่กิโลกรัมละ 85 บาท)

 

สุดยอดทุเรียนชายแดนภาคใต้ “บาตามัส” หมอนทองคุณภาพดี

 

รวมกลุ่มสร้างแรงต่อรองพ่อค้า

สถาบันปิดทองหลังพระฯ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพ 20 วิสาหกิจชุมชน และรวมกันเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการเองได้อย่างยั่งยืนทั้งเรื่องคุณภาพ ตลาด และราคาที่เกษตรกรกำหนดได้เอง 

รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่น “หมอนทอง” (Monthong Application) สำหรับติดตามผลผลิตทุเรียนคุณภาพทุกระยะ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการผลิตให้ได้ทันท่วงที และพัฒนาช่องทางจำหน่ายออนไลน์แบบสั่งจองล่วงหน้า 

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ ยังสร้างแบรนด์ทุเรียนภายใต้ชื่อ “บาตามัส” ซึ่งแปลว่า หมอนทอง ในภาษามลายู หวังให้เป็นราชาทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจำหน่ายออกสู่ตลาดในหลายรูปแบบ ทั้ง การจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อทุเรียนในพื้นที่ในรูปแบบพันธมิตรการค้า หรือล้งพันธมิตร ที่ให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป และ การขายออนไลน์ในรูปแบบการสั่งจองล่วงหน้า ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนจากราคาตลาดปกติ

 

สุดยอดทุเรียนชายแดนภาคใต้ “บาตามัส” หมอนทองคุณภาพดี

 

เช่นเดียวกับการประมูลผลผลิตทุเรียนยกสวนให้แก่ผู้รับซื้อหลายรายที่ให้ราคาสูงที่สุด ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการขายที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นการขายรูปแบบใหม่ที่ที่เกษตรกรสามารถกำหนดราคาทุเรียนได้เอง ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่พ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคา โดยตอนนี้มีการทดลองแล้วในสวนทุเรียนหลายแห่งของเกษตรกร 

นายมะรอมือลี เฮงลอโอ๊ะ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพ กับปิดทองหลังพระ ยอมรับว่า การเข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพกับปิดทองหลังพระ ทำให้มีความรู้ด้านการทำทุเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลทุก ๆ ขั้นตอน ทำให้ผลผลิตทุเรียนในส่วนในปีนี้ออกมามาก และมีคุณภาพดี จนมีรายได้มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

 

นายมะรอมือลี เฮงลอโอ๊ะ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพ กับปิดทองหลังพระ

 

ค่อย ๆ ถอนตัว ส่งเสริมอย่างอื่นควบคู่

นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ระบุว่า หน้าที่ของปิดทองหลังพระฯ จะเป็นคนกลางในการดูแลชาวบ้าน และเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปพัฒนา และเมื่อวันนึงเมื่อโครงการเริ่มประสบความสำเร็จ โดยชาวบ้านมีภูมิคุ้มกัน มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งแล้ว ในช่วงปี 2566-2567 ปิดทองหลังพระ จะค่อย ๆ ถอนตัวออกมา

จากนั้นจะไปช่วยหาทางส่งเสริม และทดลองการปลูกพืช อื่น ๆ ควบคู่ไปกับทุเรียนคุณภาพ เช่น การส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อ และแพะนม ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของคนในพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันพบปัญหาการขาดแคลนและต้องนำเข้ามาจากพื้นที่อื่น 

รวมทั้งส่งเสริมการปลูกกล้วย มะพร้าว และกาแฟ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราจำนวนมาก โดยอาจส่งเสริมให้ลดพื้นที่ปลูกยาง และปลูกกาแฟแซมขึ้นมา ซึ่งปิดทองหลังพระ จะมีผู้เชี่ยวชาญลงมาร่วมมือกันทดลองต่อไป

“สถาบันปิดทองหลังพระ ไม่ใช่ผู้วิเศษ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านทุเรียน แต่เราชอบเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน และแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ก็เป็นสิ่งที่พยายามสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10” นายกฤษฎา ระบุ 

ทั้งหมดก็เพื่อเป้าหมายสำคัญนั่นคือให้คนในพื้นที่หลุดพ้นจากความยากจน และมีโอกาสในอาชีพของตัวเองอย่างเข้มแข็ง มีแรงต่อรองไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ พร้อมทั้งช่วยลดทอดปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ไปในตัวด้วย

 

นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ลงพื้นที่ทุเรียนชายแดนภาคใต้ “บาตามัส”