พาณิชย์ติวเข้มทุเรียนไทย รักษาแชมป์แดนมังกร หลังผลิตได้เองที่ "ไห่หนาน"

06 ส.ค. 2566 | 15:12 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2566 | 15:28 น.

ทูตพาณิชย์ชี้จีนปลูกทุเรียนได้เอง ยังไม่กระทบไทยมาก เผย 6 เดือนแรกยังนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 ตามด้วยเวียดนาม ฟิลิปปินส์ แนะไทยรักษาคุณภาพและส่งเสริมภาพลักษณ์รักษาแชมป์ ระบุจีนต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปีในการเพิ่มผลผลิตได้เป็น 1 แสนตัน

รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน อ้างอิงข้อมูลจากทางการจีน ระบุว่า จากเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา จีนได้เริ่มมีการเก็บเกี่ยวทุเรียนที่ปลูกในสวนทุเรียนเขตนิเวศยวี่ฉาย (Yucai Ecological Area) เมืองซานย่า เมืองเอกของมณฑลไห่หนาน และจัดจำหน่ายไปยังกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองเซินเจิ้น โดยราคาจำหน่ายทุเรียนดังกล่าวต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 120 หยวน (ประมาณ 560 บาทต่อ กก.คำนวณที่ 4.7 บาทต่อหยวน) เนื่องจากยังมีปริมาณไม่มาก จึงเป็นการจำหน่ายให้ผู้บริโภคบางส่วนได้ชิมรสชาติเท่านั้น

ปัจจุบัน เขตนิเวศยวี่ฉาย มีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 5,042 ไร่ และคาดการณ์ว่า ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเก็บเกี่ยวทุเรียนได้ประมาณ 546 ไร่

นายตู้ ป่ายจง (Mr. Du Baizhong) เจ้าของสวนทุเรียนให้ข้อมูลว่า ข้อได้เปรียบของทุเรียนไห่หนาน คือ การเก็บทุเรียนที่ “สุกบนต้น” ซึ่งสามารถรับรองเรื่องคุณภาพได้ โดยบริษัทมีแผนการก่อตั้งร้านจำหน่ายทุเรียนไห่หนานตามเมืองเอกในมณฑลต่าง ๆ ของจีน รวมทั้งช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์

พาณิชย์ติวเข้มทุเรียนไทย รักษาแชมป์แดนมังกร หลังผลิตได้เองที่ \"ไห่หนาน\"

ทั้งนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ร้านค้าผลไม้บนเว็บไซต์ JD.com ได้จัดกิจกรรมจำหน่ายทุเรียนไห่หนานล่วงหน้า โดยราคาขายแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ราคา 188 หยวนต่อ 1.8-2.3 กิโลกรัม และราคา 358 หยวนต่อ 3.9-4.3 กิโลกรัม เฉลี่ยแล้วราคาอยู่ที่ประมาณ 80 หยวนต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้บริโภครู้สึกดีใจที่ทุเรียนหนึ่งลูกมีเนื้อ 1.3-18 กิโลกรัม ผิวบาง และมีรสชาติดี

สำหรับประเทศจีนมีเพียงมณฑลไห่หนานที่สามารถปลูกทุเรียนได้ โดยทุเรียนในท้องตลาดส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียนนำเข้า เมื่อเทียบกับปริมารการนำเข้าทุเรียนของจีนแล้ว ผลผลิตของทุเรียนไห่หนานยังนับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับการบริโภคในปริมาณที่สูง โดยตั้งแต่ปี 2019 ปริมาณการนำเข้าทุเรียนของจีนมีมากกว่าปริมาณการนำเข้าของเชอร์รี่จากชิลี ซึ่งก่อนหน้านี้ เชอร์รี่ครองอันดับ 1 ของผลไม้นำเข้าของจีน

ล่าสุดในปี 2022 ทุเรียนเป็นผลไม้นำเข้าที่มีปริมาณมากที่สุดของจีน อยู่ที่ 824,888 ตัน เพิ่มขึ้น 0.4% มูลค่าการนำเข้า 4,035 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4% แบ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศไทย 784,010 ตัน และจากเวียดนาม 40,878 ตัน

นายเฝิง เสว๋เจ๋ (Mr. Feng Xuejie) ผู้อํานวยการสถาบันผลไม้เขตร้อน สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลไห่หนาน ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยที่ช่วยให้การบริโภคทุเรียนไห่หนานมีความแพร่หลาย คือ ราคาที่ต่ำและปริมาณที่มาก จึงจำเป็นต้องมีผลิตผลจำนวนมากเพื่อทำให้ราคาลดลง

ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกทุเรียนของมณฑลไห่หนามีทั้งหมด 12,600 ไร่ หากเพิ่มเป็น 42,000 ไร่ จะต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี โดยจะให้ผลผลิตประมาณ 1 แสนกว่าตัน และหากเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 126,000 – 210,000 ไร่ มีความเป็นไปได้ว่าราคาจำหน่ายจะลดลงเป็น 20-40 หยวนต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดจีนได้

พาณิชย์ติวเข้มทุเรียนไทย รักษาแชมป์แดนมังกร หลังผลิตได้เองที่ \"ไห่หนาน\"

สคต. ณ เมืองหนานหนิง ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนอนุญาตให้มีการนำเข้าทุเรียนสดจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสดรวม 787,155 ตัน คิดเป็นมูลค่า 26,502 ล้านหยวน ประกอบด้วย ไทยปริมาณ 600,690 ตัน มูลค่า 20,776 ล้านหยวน, เวียดนาม 185,981 ตัน มูลค่า 5,713 ล้านหยวน และฟิลิปปินส์ 484 ตัน มูลค่า 13 ล้านหยวน

โดยไทยยังเป็นประเทศส่งออกทุเรียนเป็นอันดับแรกของจีน ถึงแม้ว่าจะมีการเริ่มจำหน่ายทุเรียนไห่หนานในตลาดจีนแล้ว ก็ยังไม่มีผลกระทบต่อทุเรียนไทยมากนัก

อย่างไรก็ดี เมื่อมองในระยะยาว ทุเรียนไห่หนาน ทุเรียนเวียดนาม และทุเรียนฟิลิปปินส์อาจกลายมาเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรรักษาคุณภาพของทุเรียนไทย รวมทั้งมองหาช่องทางและวิธีการต่าง ๆ ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทยในตลาดจีนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทุเรียนไทยยังคงอยู่ในความนิยมของผู้บริโภคจีนต่อไป