นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งขับเคลื่อนนโยบายอวกาศของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้งท่าอวกาศยานในประเทศไทยคือ ฐานสำหรับการส่งและรับยานอวกาศ หรือ spaceport เนื่องจากหากประเทศไทยมีท่าอวกาศยานของเราเอง จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งยังเกิดการสร้างรายได้ทางตรงจากอุตสาหกรรมอวกาศ
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ริเริ่มวางรากฐานพัฒนาด้านอวกาศไทยมาโดยตลอด เช่น ผลักดันให้มี ร่างกฎหมายอวกาศหรือพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... และผลักดันให้เกิดแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566 - 2580 (National Space Master Plan 2023 - 2037) ขึ้นเพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศเพื่อความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน ของประเทศไทย ให้แข่งขันกับนานาประเทศได้
สำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ Aerospace Industry ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งผลไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ จึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำให้ศึกษารายละเอียดรอบด้าน อย่างรอบคอบและระมัดระวังที่สุด ทั้งความคุ้มค่าและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ตั้งแต่ปลายปี 2565 งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาอีกประมาณ 1-2 ปี
ทั้งนี้เบื้องต้นพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่มีความเหมาะสมถึง 5 คุณสมบัติ ได้แก่ 1.การอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผลต่อการนำส่งอวกาศยานที่จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของพลังงาน 2.มีทะเลขนาบ 2 ฝั่งซ้าย-ขวา มีมุมปล่อยอวกาศยานได้หลากหลายแบบ 3.มีแนวชายฝั่งที่เป็นคาบสมุทร สามารถกำหนดจุดหรือ Drop Zone ที่ไม่กระทบกับพื้นที่บนฝั่ง และยังสามารถออกเก็บกู้วัตถุที่ตกลงมาได้ง่าย 4.มีระบบโลจิสติกส์ที่เข้าถึงง่าย หลายหลาย มีระบบท่าเรือน้ำลึกและท่าอากาศยาน 5.ไม่มีภัยพิบัติรุนแรง ซึ่งทำให้ไทยมีโอกาสและแนวโน้มที่จะเกิดโครงการนี้ได้จริง
“หากท่าอวกาศยานในประเทศไทย จัดตั้งได้สำเร็จจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศขนาดใหญ่ นอกจากจะยกระดับวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาสแล้ว ยังส่งเสริมและผลักดัน ธุรกิจอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ อุตสาหกรรมการผลิตอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฯลฯ”
นอกจากนี้หหากสามารถดำเนินการได้จะเกิดอาชีพใหม่เพิ่มขึ้นอีกกว่า300-400 อาชีพ อาทิ ช่างประกอบจรวด ช่างประกอบเพย์โหลด ช่างขัดท่อจรวด ช่างอิเล็กทรอนิกส์ระบบจรวด ช่างไฟฟ้าระบบจรวด เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าจรวด พนักงานขายตั๋วเที่ยวบินไปอวกาศฯลฯ ซึ่งยังไม่เคยมีเกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ล้ำสมัย นำไปสู่ความการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และยังทำให้ประเทศไทย เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจอวกาศแห่งภูมิภาคเอชีย-แปซิฟิกได้