สรุปประเด็น “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” แฉกระบวนการซื้อที่ดิน “แสนสิริ”

04 ส.ค. 2566 | 18:34 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2566 | 18:51 น.
796

สรุปประเด็น “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” แฉหลักฐาน กระบวนการซื้อที่ดินของ บมจ.แสนสิริ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเข้าข่ายนิติกรรมอำพราง ยุค “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นผู้บริหาร

สรุปประเด็น “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” อดีตนักการเมือง ออกมาแถลงข่าว โดยนำหลักฐานและรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการซื้อที่ดินของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI โดยตั้งข้อสังเกตว่า อาจเข้าข่ายนิติกรรมอำพราง ในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน นั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของแสนสิริ 

โดยนายชูวิทย์ ได้ตั้งประเด็นในการแถลงข่าว “แฉเพื่อชาติ” EP.1 ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการโอนที่ดิน “12 คน โอน 12 วัน” อ้างว่า มีการโอนกรรมสิทธิ์ในโฉนดหมายเลขเดียวกัน คือ โฉนดเลขที่ 16515 เป็นโฉนดแปลงเดียว ตั้งอยู่ในถนนสารสิน ทั้งหมด 399.7ตารางวา มูลค่ากว่า 1,570 ล้านบาท ซึ่งเห็นว่า เป็นตารางวาแพงที่สุดในประเทศไทย คือตารางวาละ 4 ล้านบาท หรือ เท่ากับบ้าน 2 ชั้น 1 หลัง

 

ภาพประกอบข่าว สรุปประเด็น “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แฉเพื่อชาติ

 

เป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่?

การตั้งคำถามถึงกรณีว่าเข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่? “ชูวิทย์” ตั้งข้อสังเกตว่า ในการโอนกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงเดียว ซึ่งปรากฏว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ให้บุคคลรวม 12 คน ซึ่งถ้าโอน 12 คน ใน 1 วัน จะทำให้เข้าเงื่อนไข เป็นคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน จะต้องจ่ายภาษีให้กรมที่ดิน 59.2 ล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภงด.90 อัตราก้าวหน้า 35% ต่อสรรพากร คิดเป็นมูลค่า 521 ล้านบาท รวมภาษีทั้งหมด 580 ล้านบาท ที่ต้องจ่าย

แต่บุคคลรวม 12 คน กับแยกการโอน 12 วัน ติดต่อกัน คือ 1 วัน 1 คน สัปดาห์ละ 5 วัน ก็ไม่เข้าเงื่อนไขเป็นคณะบุคคล จ่ายภาษีเพียงแค่ 59.2 ล้านบาทเท่านั้น อาจเข้าข่ายว่าเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีมูลค่า 521 ล้านบาท

ตั้งข้อสังเกตตบมือข้างเดียวไม่ดัง 

นายชูวิทย์ ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้คนขายที่ดินทำคนเดียวไม่ได้ เพราะตบมือข้างเดียวไม่ดัง เพราะต้องมีคนซื้อ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านที่ดิน เพราะการโอน 12 คน 12 วันติดกัน อาจเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิด และอาจสมคบการกระทำความผิด ขณะที่ นายเศรษฐา ก็ไม่สามารถปฏิเสธ หรือ ไม่รับรู้ไม่ได้ เพราะ นายเศรษฐา มีสถานะเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้ลงชื่อรับรองรายงานการประชุม ในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 อย่างถูกต้อง

ส่วนกรณีบริษัท แสนสิริ ออกประกาศชี้แจงเรื่องการซื้อที่ดินถูกต้องตามหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล ไม่ได้เลี่ยงภาษี โดยเฉพาะประเด็นการจ่ายภาษีเป็นภาระของผู้ขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยนั้น นายชูวิทย์ ระบุว่า การแยก 12 คน 12 วัน ในฐานะของบริษัทมหาชน มีฝ่ายกฎหมาย ซื้อที่ดินทั่วกรุงเทพฯ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ โดยนายเศรษฐา ได้เซ็นรับรองรายงานการประชุมไปแล้วนั้น เห็นว่า หากนายเศรษฐา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี กรณีนี้เป็นไปได้หรือไม่ ว่าเป็นการช่วยนายทุนหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่

“ถ้านายเศรษฐา ซึ่งเป็นนายทุนในแสนสิริ สามารถกระทำการแบบนี้ได้ ท้ายสุดประเทศไทยจะได้นายกเป็นนายทุนหลีกเลี่ยงภาษี” นายชูวิทย์ ระบุ

 

ภาพประกอบข่าว สรุปประเด็น “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แฉเพื่อชาติ

จ่อยื่นหลักฐาน กลต. สภา สรรพากร

สำหรับขั้นตอนต่อไปนั้น นายชูวิทย์ ระบุว่า จะนำข้อมูลและเอกสารที่นำมาแถลงครั้งนี้ ไปยื่นต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ,ประธานรัฐสภา และ กรมสรรพากร เพื่อให้นำข้อมูลไปประกอบในการพิจารณาโหวต นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี 

ทั้งนี้ นายชูวิทย์ ยอมรับว่า พฤติการณ์เหล่านี้ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ที่ระบุว่า นายกฯต้องความซื่อสัตย์สุจริต และถือว่ามีความผิดตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 มาตรา 37 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

แสนสิริ ชี้แจงเรื่องการซื้อที่ดิน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ออกประกาศชี้แจงเรื่องการซื้อที่ดินว่า ถูกต้องตามหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล สรุปเนื้อหาว่า แสนสิริ ไม่ได้รับรู้ หรือ เกี่ยวข้องใดๆ ในวิธีการ หรือ การดำเนินการใดๆ ทางภาษีอากรของผู้ขายตามที่ได้มีการกล่าวอ้างดังกล่าว และไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการประหยัดภาษีและค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ของผู้ขาย

โดยในการซื้อขายที่ดินของแสนสิรินั้น นายเศรษฐา เมื่อครั้งซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดและกรรมการของแสนสิริ จะมีส่วนร่วมเฉพาะในขั้นตอนการอนุมัติจัดซื้อที่ดิน โดยพิจารณาจากตัวเลข และข้อมูลที่ทีมสรรหาที่ดินของแสนสิริได้จัดทำ และนำเสนอให้ที่ประชุมผู้บริหารเพื่อพิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการของบริษัทเพื่ออนุมัติการ ซื้อที่ดินและการลงทุนตามลำดับ 

นายเศรษฐา ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสูงสุดและกรรมการของแสนสิริ จึงอนุมัติเพียงแค่ราคาและมูลค่าเงินลงทุนเท่านั้น ส่วนการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน การชำระราคา และการโอนกรรมสิทธิ์จะเป็นหน้าที่ของทีมสรรหาที่ดินที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการและประสานงานทั้งหมด

ขณะที่การชำระราคาที่ดินแปลงดังกล่าวเกือบทั้งหมด เป็นการจ่ายด้วยเช็คและแคชเชียร์เช็ค โดยมีการจ่ายเป็นเงินสดเพียง 301,000 บาท ไม่ได้มีการชำระเงินสดจำนวนมากตามที่ได้มีการกล่าวอ้าง ส่วนที่เหลือชำระเป็นเงินสดนั้น เป็นเพราะ แสนสิริได้ชำระเงินมัดจำให้แก่ผู้ขายตามสัญญาจะซื้อจะขายเสร็จสิ้นไปก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลายเดือนก่อนหน้า ทางปฏิบัติตามปกติของ กรมที่ดินจะบันทึกส่วนต่างของค่าที่ดินที่ไม่มีการแสดงสำเนาแคชเชียร์เช็ค ณ วันโอน กรรมสิทธิ์ว่าเป็นการชำระด้วยเงินสด

การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่กรมที่ดินโดยเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และได้มีการชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ/อากรแสตมป์ ตามที่มีการเรียกเก็บ ณ เรียบร้อยแล้ว และแสนสิริได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามราคาที่ตกลงซื้อขายกัน

ตอนท้ายยังระบุว่า นายเศรษฐา ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด และ กรรมการของแสนสิริในขณะนั้น ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของ บริษัทครบถ้วนแล้ว และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับรู้ขั้นตอนวิธีการในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่กล่าวข้างต้น เพราะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาจะซื้อจะขายและอยู่ในความรับผิดชอบของทีมสรรหาที่ดิน ที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการที่ต้องจัดการให้เป็นไปตามสัญญาและถูกต้องตามกฎหมาย 

ธุรกรรมการซื้อขายที่ดินของแสนสิริดังกล่าว เป็นการซื้อขายที่ดินตามปกติในธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป โดยบริษัทฯ ขอยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้ 

 

ภาพประกอบข่าว สรุปประเด็น “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แฉเพื่อชาติ ที่ดิน แสนสิริ

 

ชูวิทย์โพสต์ซ้ำตั้งข้อสังเกตคำชี้แจง

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น เฟซบุ๊กของนายชูวิทย์ ยังได้ระบุข้อมูลเพิ่มเติม โดยตั้งข้อสังเกตถึงราคาที่ดินตารางวาละ 4 ล้านบาท ซึ่งแพงที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา โดยเป็นราคาที่ดินบนถนนสารสิน ลุมพินี ที่บริษัทพัฒนาที่ดินใหญ่อย่างแสนสิริซื้อมาตั้งแต่ ปี 2562 เนื้อที่ 399.7 ตารางวา ราคารวม 1,570 ล้านบาท ซึ่งมีบันทึกที่กรมที่ดินในราคาซื้อขายนี้ ในขณะที่ราคาประเมินปัจจุบันเพียงตารางวาละ 1 ล้านบาท

ส่วนการชี้แจงว่า จ่ายเป็นเงินสดแค่ 301,000 บาท นอกนั้นจ่ายเป็นเช็ค และแคชเชียร์เช็ค เห็นว่า แสนสิริ ต้องชี้แจงรายละเอียดเพิ่มว่าการจ่ายเช็ค เป็นเช็คชื่อใคร? ธนาคารอะไร? จ่ายวันไหน? จำนวนเงินเท่าไหร่? เพราะการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะปิดบังไม่ได้ 

อีกทั้งในกรณี นายเศรษฐา ยืนกรานอย่างเดียวว่าเป็นแค่ “กรรมการผู้จัดการ” ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ทำหน้าที่อนุมัติเฉย ๆ ก็เหมือนกับต่อไปเป็น “นายกรัฐมนตรี” เวลามีทุจริตจะบอกได้ไหมว่า เป็นคนเซ็นอนุมัติเฉย ๆ ที่เหลือลูกน้องไปดำเนินการต่อ ไม่รู้เรื่องเช่นเดียวกับคดี “จำนำข้าว”