ประเด็นประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย สปส.มั่นใจไม่กระทบผู้ประกันตน

24 ก.ค. 2566 | 12:20 น.
817

จากกระแสที่ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมส่อแววล้มละลาย อีกทั้งโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสะสมไปในแต่ละเดือนตลอดชีวิตการทำงาน เพื่อหวังใช้ในยามเกษียณอายุอาจได้รับผลกระทบ

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นางสาวขัตติยา สวัสดิผล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณารับทราบรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชี และรายงานการเงินกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมสำหรับปี 2564 โดยมองว่าอัตราที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) หักอยู่เดือนละ 750 บาท หรือคิดเป็น 5% อาจไม่เพียงพอต่อการเป็นเงินออมเพื่อใช้ในภายภาคหน้า รวมถึงในช่วงระหว่างปี 2563 - 2564 สำนักงานกองทุนฯ มียอดรายได้ต่ำว่ารายจ่ายอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในปี 2564 นั้นติดลบอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท 

นางสาวขัตติยาได้ทิ้งท้ายการอภิปรายเป็นคำถามถึงสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกันตนได้หรือไม่ หากทางสปส. ให้ความมั่นใจได้ว่าการบริหารมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และแสดงให้เห็นว่าเงินที่ผู้ประกันตนได้สมทบไว้ในแต่ละเดือนตลอดชีวิตการทำงาน จะเป็นหลักประกันในอนาคตได้ ก็เชื่อว่าผู้ประกันตนยินดีที่จะให้หักเงินเพิ่ม

ผู้ประกันตนมาตรา 33 39 และ 40 หรือผู้ที่ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อเก็บเป็นเงินสมทบไว้ใช้ในวัยเกษียณ มีความกังวลว่าจำนวนเงินที่ทำการจ่ายหรือถูกหักจากเงินเดือนไว้สมทบประกันสังคม แต่พอถึงเวลาอาจไม่มีเงินให้ใช้ เนื่องจากปัญหาที่ว่าโครงสร้างประชากรในปัจจุบันเปลี่ยนไป คนวัยทำงานมีน้อยกว่าคนวัยเกษียณที่รอรับเงินบำนาญ ซึ่งเงินสมทบหลักๆ ที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมจะถูกนำไปใช้ดูแลสมาชิกกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ รวมถึงใช้สำหรับสนับสนุนสมาชิกกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร หรือว่างงานด้วย
 

สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนในแต่ละมาตรา
ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ภาคบังคับ) - สำหรับบุคคลที่ทำงานบริษัทเอกชน ทำงานให้นายจ้าง โดยจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินจ้าง จะมีการหักเงินจากค่าจ้างไว้เป็นเงินสะสมในแต่ละเดือนครึ่งหนึ่ง และรับเงินสบทบจากนายจ้างอีกครึ่งหนึ่ง ตกเดือนละ 5% หรือคิดเป็น 750 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมเงินสมทบจากรัฐบาล สิทธิคุ้มครองที่จะได้รับมีทั้งหมด 7 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน 

กรณีเป็นบุคคลว่างงาน สามารถลงทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชยได้ ทั้งในกรณีของการถูกเลิกจ้างและลาออก แต่จะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณาจ่าย โดยผู้ว่างงานจะต้องเป็น

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน และมีอายุไม่เกิน 55 ปี
  • ต้องมีสถานะว่าลาออกจากงาน ถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จากทางนายจ้าง
  • การว่างงานต้องไม่เกิดจากการกระทำที่ผิดกฏหมาย อาทิ ทุจริต ทำผิดต่อหน้าที่ หรือเจตนาสร้างความเสียหายให้แก่บริษัท
  • ต้องมีการรายงานตัวกรณีว่างงานตามกำหนดอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะครบตามหลักเกณฑ์ที่ประกันสังคมพิจารณาจ่ายให้

สามารถลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ กรมการจัดหางาน ได้ด้วยตัวเอง หรือไปยืนยันตัวตนที่สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำเรื่องส่งต่อให้ทางประกันสังคมพิจารณาอีกครั้ง

 

ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ภาคสมัครใจ) - สำหรับบุคคลที่เคยทำงานบริษัทเอกชนและเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ก่อนที่จะลาออก ไม่ทำงานประจำภายใต้นายจ้างแล้ว การสมัครมาตรา 39 มีไว้สำหรับบุคคลที่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน รวมถึงต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม และทำการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมด้วยตนเอง 432 บาทต่อเดือน โดยจะไม่มีเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง แต่จะได้รับสิทธิคุ้มครองตามที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับ ยกเว้นกรณีว่างงาน

ผู้ประกันตนมาตรา 40 (ภาคสมัครใจ) - สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ และมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 65 ปี และทำงานแบบไม่มีนายจ้าง โดยสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่จะคุ้มครองขึ้นอยู่กับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนสะดวกที่จะส่ง ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 แบบ

  • ส่งเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน คุ้มครอง 3 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ และ เสียชีวิต 
  • ส่งเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน คุ้มครอง 4 กรณี โดยเพิ่มในส่วนของกรณีชราภาพ
  • ส่งเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน คุ้มครอง 5 กรณี โดยเพิ่มในส่วนของการสงเคราะห์บุตร

แต่เนื่องด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปจากที่กล่าวข้างต้น จึงมีการคาดการณ์ว่า หากกองทุนประกันสังคมยังเรียกเก็บเงินสมทบในอัตราเดิมอยู่ อาจส่งผลให้มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะดูแลส่วนของกองทุนชราภาพ ตามอัตราที่มีคนเกษียณอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งหากกระทรวงแรงงานมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างขั้นสูงเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากเพดานค่าจ้างปัจจุบัน คือคำนวณจากฐาน 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากสำนักงานประกันสังคม(สปส.) มีการปรับอัตราจัดเก็บเงินสมทบใหม่ หมายความว่า ผู้ประกันตนจะถูกหักเงินสมทบเพิ่มจากที่เคยจ่ายมา 

ส่วนในเรื่องความเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมและรูปแบบการบริหารเงินกองทุนที่ทางส.ส.พรรคการเมืองหลายพรรคเป็นกังวลในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางกรมแรงงานและสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ได้ออกมาชี้แจงและให้ความมั่นใจว่า กองทุนประกันสังคมยังคงมีความเสถียรภาพ มั่นคง สามารถดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนได้ ขอให้ผู้ประกันตนเชื่อมั่นได้ว่ากองทุนจะไม่มีทางล้มละลายในอนาคต และยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่กระทบกับเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน

ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการประกาศบังคับใช้ ว่าจะมีการขยายเพดานเงินเดือน การเพิ่มขยายเวลาเกษียณ หรือการปรับอัตราใหม่สำหรับการจัดเก็บเงินกองทุนอย่างเป็นทางการ และยังคงเป็นเรื่องที่ต้องคอยติดตามต่อไป ทาง ฐานเศรษฐกิจ จะนำมาอัปเดตให้ทราบอีกครั้ง