ตราด จับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น สู่ 2 จังหวัดชายแดนกัมพูชา

14 ก.ค. 2566 | 10:46 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2566 | 11:14 น.

พาณิชย์จังหวัดตราด จัด Business Matching จับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจชายแดน จังหวัดพระตะบอง-เกาะกง ประเทศกัมพูชา

นายพีระ เอี่ยมสุนทร ปลัดจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการประชุม Business Matching เชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจชายแดนระหว่างจังหวัดตราดกับ 2 จังหวัดในกัมพูชามคือ จ.พระตะบองและจังหวัดเกาะกง

โดยมีนางวิภา สุเนตร ประธานหอการค้าจังหวัดตราด นายธรา วัฒนวินิน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด ตัวแทนประธานประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตราด และMr.POV CHEA (ปอ เจีย)รองประธานหอการค้าจังหวัดพระตะบอง และรองประธานหอการค้า จังหวัดเกาะกงและสมาชิกหอการค้าตราด และผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 100 คน

 

นางวรัญญา ถนอมพันธุ์ พาณิชย์จังหวัดตราด กล่าวว่า การจัดกิจกรรม Business Matching เชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจชายแดน" ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงต่อกันโดยผ่านการค้าระหว่างประเทศทำให้ทุกภาคส่วนของโลก รวมถึงประเทศอาเซียน ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีเหตุการณ์ที่สร้างความผันผวนและความไม่แน่นอนต่อห่วงโซ่อุปทานและการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ความขัดแยังด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือการถูกดิสรัปท์ (disrupted)

ตราด จับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น สู่ 2 จังหวัดกัมพูชา

จากสถานการณ์โรคร้าย และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะดังกล่าว ร่วมกันที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 ทำให้การพบปะระหว่างภาคเอกชน จากราชอาณาจักรไทย และราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นไปได้ยาก

การจัดกิจกรรม Business Matching เชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจชายแดน เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการทั้งสองประเทศและดึงดูดการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจังหวัดตราดราชอาณาจักรไทย และจังหวัดพระตะบอง และจังหวัดเกาะกงราชอาณาจักรกัมพูชาโดยกิจกรรมประกอบด้วย

1) ประชุมหารือด้านความร่วมมือการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว

2) เจรจาจับคู่ธุรกิจโดยมีการจัดแสดงสินค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่น

3) การเยี่ยมชม สถานประกอบการของผู้ประกอบการในจังหวัดตราด

ขณะนายพีระ กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศษฐกิจฐานราก มุ่งเนันให้ชุมชนและท้องถิ่นมีความกินดีอยู่ดีมีความเข้มแข็ง มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการส่งเสริมสินค้าและบริการจากท้องถิ่นเชื่อมโยงตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ดังเช่นกิจกรรมฯ ในครั้งนี้การจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการสมาชิกหอการค้ และรองประธานหอการค้าจังหวัด ของจังหวัดพระตะบองและจังหวัดเกาะกง เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ด้วย

ตราด จับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น สู่ 2 จังหวัดกัมพูชา

จังหวัดตราดมีความพร้อมและตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการช่วยเชื่อมโยง และสร้างเครือข่ายทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และคาดหวังว่า การจัดกิจกรรมฯในครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดตราดก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ เกิดมูลค่าทางการค้า และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดตราด จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดเกาะกง ในระยะยาว 

หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้นำเสนอความต้องการระหว่างกัน โดยนางวิภา สุเนตร ได้เสนอให้ทางฝั่งกัมพูชาอนุญาตให้ชาวตราดได้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวสามารถเดินทางเข้าจังหวัดพระตะบอง และจ.เกาะกงได้ และให้ชาวกัมพูชาทั้งสองจังหวัดเดินทางเข้าจ.ตราดได้ด้วยการใช้บอเดอร์พาส ซี่งจะช่วงส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยวระหว่าง 2 จังหวัดในกัมพูชา และจังหวัดตราดได้เป็นอย่างดี และการขนส่งสินค้าเข้าฝั่งกัมพูชาที่ปัจจุบันมีขั้นตอนยุ่งยาก จึงขอให้ลดขั้นตอนลงเพื่อความสะดวกทั้งสองฝ่าย ซึ่งทางฝั่งกัมพูชารับว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับทางรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องนี้ 

ขณะที่นายธรา เสนอว่า ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด มีนโยบายในเรื่องการพัฒนาอุตสหกรรมเชิงเกษตรและประมง ซึ่งจังหวัดตราดมีศักยภาพมาก ขณะเดียวกันทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็มีแนวทางในการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาด ตามทิศทางการทำอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากทางกัมพูชาต้องการหรือสนใจการทำอุตสาหกรรมในแนวทางนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมจ.ตราดพร้อมให้คำแนะนำหรือเข้าไปสนับสนุนในการพัฒนาได้ ซึ่งพร้อมจะเข้าดำเนินการให้ 

ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาได้รับความต้องการของจังหวัดตราดและได้เสนอความต้องการของภาคเอกชนของจังหวัดพระตะบองและจังหวัดเกาะกง ใน 3 ประเด็น คือ การขอนำสินค้าการเกษตรกรรม โดยเฉพาะ ทุเรียนจากกัมพูชา(พระตะบอง)เข้ามาทางจุดผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง อ.บ่อไร่ จ.ตราด และการขนส่งวัสดุก่อสร้างเข้าไปยังกัมพูชา และการนำผู้ป่วยเข้ามารักษาในฝั่งจังหวัดตราด โดยขอนำเข้ามาทางฝั่งจ.ตราด เป็นต้น

ตราด จับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น สู่ 2 จังหวัดกัมพูชา

หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้เซ็นเอ็มโอยูต่อกัน โดยฝ่ายหอการค้าพระตะบอง นำโดยนายปอ เจีย และนางวิภา สุเนตร ได้ลงนามร่วมกันโดยฝั่งจังหวัดพระตะบองได้สั่งซื้อสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งจากจังหวัดตราดเป็นมูลค่า 6 ล้านบาท/ปี เป็นการเริ่มต้น

นางวิภา กล่าวว่า นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทั้งสองจังหวัดได้ริเริ่มการค้าระหว่างกัน ซึ่งในเดือนหน้าทางหอการค้าจังหวัดตราดจะเดินทางเข้าไปเพื่อสำรวจตลาดและสถานที่ในการจัดบูทสินค้าที่ฝั่งจังหวัดพระตะบองต้องการด้วย

คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะมีการเจรจาการค้าด้วยกันเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าทางการเกษตรนั้นหากทางกัมพูชาจะนำเข้ามาเพื่อผ่านทางจังหวัดตราดไปยังประเทศที่ 3 หรือให้จ.ตราดเป็นผู้กระจายผลผลิตให้ก็สามารถทำได้ แต่ต้องผ่านมาตรฐานทางการเกษตรด้วย 

จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ :รายงาน