กูรูกลั่นประสบการณ์ ติวเข้มส่งออกไทยไปสหรัฐ สู้ศึกขาลง

01 ก.ค. 2566 | 18:09 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2566 | 18:41 น.

สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีขนาดใหญ่สุดของโลกและมีอิทธิพลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังน่าห่วงจากภาวะชะลอตัว ผลพวงจากภาวะเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น แบงก์ล้ม หนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ จะฝ่าวิกฤตนี้ได้อย่างไรนั้น

นายประมุข  เจิดพงศาธร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (HTA) ของกระทรวงพาณิชย์ และประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท PJ US Group ผู้จัดหาและนำเข้าสินค้าไทยจำหน่ายให้กับห้างค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ทั่วสหรัฐฯให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ใจความสำคัญระบุว่า

จากประสบการณ์ของตัวเองที่ผ่านมา พบว่า ในยามวิกฤตยังมีผู้ที่สามารถได้ผลประโยชน์จากสถานการณ์ ยกตัวอย่างผู้นำเข้าส่วนใหญ่ไม่กล้านำเข้า เพราะกลัวขายไม่ออก เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากภาวะเงินเฟ้อในอเมริกา ส่งผลกระทบเช่น ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ค่าเช่าคลังสินค้าขึ้น 500% ดังนั้นการบริหารจัดการที่ไม่ดีจะทำให้ขาดทุนได้

ประมุข  เจิดพงศาธร

ขณะที่ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ทำเอง กินเองที่บ้านมากขึ้น ตนโชคดีมีสินค้าที่อยู่กลุ่มที่ผู้บริโภคทานที่บ้านนั่นคือ ข้าวซึ่งเป็นสินค้าหลัก และทางกลุ่มทำสินค้าข้าวทุกชนิด ทั้งข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวออร์แกนิค รวมทั้งล่าสุดกำลังพัฒนาสินค้าใหม่เป็นข้าวพร้อมรับประทานร่วมกับโรงงานพันธมิตรในไทยเพื่อจำหน่ายให้กับกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าต้องมีความทันสมัย บรรจุในแพ็กเกจจิ้งที่สามารถเข้าไมโครเวฟ 2 นาที แล้วทานได้เลย ขณะที่ในสินค้าซอสสำหรับตลาดเรือนจำในสหรัฐกำลังไปได้ดี

“ในสิ่งเหล่านี้รวมความให้เห็นว่า ผู้ประกอบการก็ต้องมองดูว่าตัวเองอยู่ในสถานภาพไหน และมีความรู้ มีลูกค้า ควรที่จะทำอย่างไร จะเดินหน้าไหวหรือไม่ จะต้องตัดค่าใช้จ่ายมั้ย ตรงนี้ผมไม่สามารถที่จะตอบแทนได้ ขึ้นอยู่กับภาวะของแต่ละคน ในตัวผมเองมีความรู้ในเรื่องโปรดักส์ โนเลจ มีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารการนำเข้า และมีสิ่งที่ดีที่สุดที่สร้างไว้ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาคือ สเปเชียล คอนเน็กชั่นที่สร้างไว้กับระดับเจ้าของห้างไปจนถึงระดับไดเร็กเตอร์(ผู้จัดการ) ซึ่งวันนี้เป็นผลพวงที่ทำให้ผมอยู่ในสถานภาพที่มีความได้เปรียบพอสมควร และอาจจะโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผมได้สัมผัสกับผู้ที่มีพลังมหาศาลในธุรกิจ”

กูรูกลั่นประสบการณ์ ติวเข้มส่งออกไทยไปสหรัฐ สู้ศึกขาลง

ดังนั้นการที่สำเร็จหรือไม่ ต้องใช้วิจารณญาณว่าเราควรที่จะทำตรงนั้นหรือไม่ ควรจะลงทุนมาก ๆ หรือไม่ หรือควรที่จะขยายตัวมาก ๆ หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ไม่สามารถตอบแทนผู้ประกอบการรายอื่นได้ แต่อยากจะแนะนำสำหรับผู้ประกอบการว่า ขอให้ทำด้วยความไม่ประมาท และมีความรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันสิ่งเหล่านี้ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ทั้งสิ้น

สำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในช่วงนี้ที่ทุกคนคาดหวังว่าภาวะเงินเฟ้อจะดีขึ้น ตัวเลขการว่างงานจะน้อยลง แต่อยากให้คิดให้รอบคอบว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีความบอบช้ำกันพอสมควร ซึ่งยังต้องระมัดระวังกันอยู่ดี เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ภายในชั่วพริบตาเดียว เราไม่สามารถทราบได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เวลานี้จะมองกระจกด้านเดียวไม่ได้ ต้องมองหกด้าน

เนื่องจากการขายสินค้าเวลานี้ จะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งถามซื้อสินค้า แต่ขณะเดียวกันก็จะถามว่าให้เครดิตนานเท่าไร ซึ่งถ้าบอกว่าซื้อเงินสดเขาก็จะหายไปเลย ซึ่งตนก็เจออย่างนี้มามาก ขณะเดียวกันในนโยบายที่ตัวเองทำคือ Combining Strengths (รวมจุดแข็ง)  และ Diversified (ความหลากหลาย) หมายถึงการกระจายความเสี่ยง ซึ่งคำว่ากระจายความเสี่ยงในส่วนของตัวเอง หมายถึงได้มีการคบค้ากับลูกค้าที่มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับเจ้าของห้างฯ กับไดเร็กเตอร์(ผู้จัดการ) และกรรมการระดับสูงของห้างฯ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ตอบสนองสินค้าได้ตามที่ต้อง เพื่อการขยายธุรกิจร่วมกันไม่สิ้นสุด

“ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัว เราควรจะทำอย่างไร ในส่วนของผมจุดยืน คืออันที่ 1.นโยบาย Combining Strengths ที่สร้างมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ทำให้มีพรรคพวกมากมาย ประกอบกับตัวเองก็มองเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐฯจะเกิดขึ้นก็พยายามเจาะห้างที่เป็นห้างสะดวกซื้อ หรือดอลลาร์สโตร์ มา 3 ปีแล้ว อีกอันหนึ่งคือประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งหมดชั่วชีวิตที่ไปอเมริกาก็คือ ไดเวอร์ซิไฟด์ คือทำสินค้ามาถึง 70-80 รายการ และในเวลานี้เลือกทำเฉพาะสินค้าที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น ข้าว เราได้ร่วมกับ ผอ.ไทยเทรดทำการโปรโมทข้าวหอมมะลิ ข้าวชนิดอื่น ๆ และสินค้าประเภทอื่น ๆ ไปในหลายห้าง และในหลายหัวเมืองในอเมริกาที่ผมมีคอนเน็กชั่นอยู่” นายประมุข ยกประสบการณ์เพื่อให้ผู้ส่งออกของไทยนำไปประยุกต์ใช้