ปลูกไม้มีค่า - เลี้ยงสัตว์ การออมรูปแบบใหม่ กำไรดีกว่าฝากแบงก์

23 มิ.ย. 2566 | 06:02 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2566 | 08:42 น.

รู้จักการออมรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ตัวเงิน ผ่านวิธีการปลูกไม้มีค่า และ วิธีการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือว่ามีผลตอบแทน หรือกำไรที่ดีกว่าฝากเงินในแบงก์ โดยเฉพาะสิ่งที่จะได้แทนดอกเบี้ยที่มีมูลค่าสูง

การออม” ถือเป็นการสะสมเงินหรือทรัพย์สินไว้ใช้ซื้อสิ่งที่ต้องการ ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเอาไว้ใช้ยามเกษียณ ทำให้การออมเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐให้การส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจริง ๆ แล้ว การออมนั้นไม่จำเป็นที่ต้องออมเงินในรูปแบบของตัวเงินเสมอไป นั่นเพราะยังมีวิธีการออมง่าย ๆ ผ่าน การปลูกไม้มีค่า และ การเลี้ยงสัตว์ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในภาคเกษตรกรรม

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2564 พบว่า ครัวเรือนไทยถึง 72% มีการออมเงิน แต่มูลค่าการออมกลับไม่สูงนัก และมีแนวโน้มลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 143,844 บาทต่อครัวเรือน ลดลงจากปี 2558 ที่มีมูลค่า 194,427 บาท 

ขณะเดียวกันช่วงเวลาที่คนไทยเก็บออมยังค่อนข้างช้า นั่นคือ คนไทยเริ่มวางแผนการออมที่อายุ 42 ปี และทำให้ครัวเรือนไทยกว่า 86% มีเงินออมในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในระยะเวลา 1 ปี หากต้องหยุดทำงาน และไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายในยามเกษียณ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีมูลค่าการออมเฉลี่ยในปี 2564 เพียง 38,097 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งต่ำกว่าครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง 1 เท่า และต่ำกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงถึง 10 เท่า 

 

ข้อมูลการออมเฉลี่ยของครัวเรือนไทย สศช.

โดยกลุ่มนี้มีเงินออมต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ขึ้นกับฤดูกาล และราคาสินค้าที่มีความผันผวน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการออมเงินของคนกลุ่มนี้ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่ขาดหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณจากการเป็นแรงงานนอกระบบ โดยเมื่อเกษียณอายุจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยนอกจากมีอุปสรรคในการออมจากการมีรายได้ไม่แน่นอนแล้ว ยังขาดหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณอีกด้วย

ปัจจุบันมีแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยการส่งเสริมการออมทางเลือก ซึ่งเป็นการออมในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน ทั้ง การออมในรูปแบบของการปลูกไม้ยืนต้น หรือ ไม้มีค่า และออมในรูปแบบของการเลี้ยงสัตว์ แยกเป็นกลุ่มดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว การออมรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ตัวเงิน ผ่านวิธีการปลูกไม้มีค่า และ วิธีการเลี้ยงสัตว์

การปลูกไม้ยืนต้น และไม้มีค่า

การออมทรัพย์ในรูปแบบของการปลูกไม้ยืนต้น ซึ่งเป็นการปลูกต้นไม้ ทั้งไม้เศรษฐกิจ และไม้พันธุ์ท้องถิ่นในพื้นที่ของตนเอง ทั้งในบริเวณที่อยู่อาศัย หรือในพื้นที่เหลือที่ไม่ได้ทำการเกษตร โดยไม่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งการออมไม้ยืนต้นมีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนในช่วงปี 2547 - 2548

โดยสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ (ปัจจุบันคือสภาองค์กร ชุมชน) ได้เสนอแนวคิดเรื่องปลูกต้นไม้ใช้หนี้ต่อรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร โดยให้เกษตรกรนำต้นไม้ที่ตนเองปลูกไปเป็นทรัพย์สิน เพื่อค้ำประกันเงินกู้หรือชำระหนี้สินให้แก่ธนาคาร 

แนวคิดดังกล่าว ถูกพัฒนาต่อยอดโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่ได้จัดทำโครงการธนาคารต้นไม้ขึ้นในปี 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ตามแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมและปลูกไม้ยืนต้นกว่า 12 ล้านต้น 

ต่อมาในปี 2560 คณะกรรมการปฏิรูป ประเทศด้านสังคม ได้นำเรื่องการปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงมาเป็นประเด็นปฏิรูปในการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง และทำให้ในปี 2562 รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการชุมชนไม้มีค่า ควบคู่กับการปลดล็อกกฎหมายไม้หวงห้ามและไม้หายาก 171 ชนิด ให้สามารถปลูกและตัดขายสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้อย่างเสรี รวมทั้งกำหนดให้ไม้มีค่า 58 ชนิด ที่ปลูกบนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์สามารถใช้เป็นหลักประกันธุรกิจและค้ำประกันสินเชื่อได้ตามกฎหมาย 

ทั้งนี้ การปลูกไม้มีค่าเป็นการออมที่ใช้เงินต้นต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูง โดยต้นทุนเกิดจากค่าแรง และค่าพันธุ์พืชซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ มีการแจกพันธุ์พืชเศรษฐกิจฟรีให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าแรงเท่านั้น

เมื่อประเมินเป็นผลตอบแทน โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของ "ประกาศิต มหาสิงห์" เรื่อง รูปแบบการออมโดยการปลูกไม้ป่าผสมบนพื้นที่ขนาดเล็กสำหรับเกษตรกรภาคเหนือตอนบน (พื้นที่ย่อยที่ 1) ของประเทศไทย พบว่า การปลูกไม้ยืนต้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากหลายเท่าตัวโดยมีอัตราผลตอบแทนถึง 17.90% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนสูง และสร้างประโยชน์ได้เป็นจำนวนมาก แต่การปลูกไม้ยืนต้นยังมี อุปสรรคที่สำคัญ คือ การขาดแรงจูงใจและกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้ออำนวย เช่น พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดว่าห้ามเคลื่อนย้ายเลื่อยโซ่ยนต์ข้ามเขต รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2537 ที่กำหนดให้สามารถตั้งโรงงานแปรรูปไม้ได้เฉพาะไม้ 13 ชนิด และไม้ยางพาราเท่านั้น 

นอกจากนี้การใช้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันทางธุรกิจยังมีไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากการที่ยังขาดหลักเกณฑ์กลางในการประเมินราคาต้นไม้และการติดตามตรวจสอบสภาพต้นไม้ในช่วงการให้สินเชื่อ ทำให้ปัจจุบันมีเพียงธนาคารของรัฐ คือ ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย และพิโกไฟแนนซ์ ที่ยอมรับการนำต้นไม้มาค้ำประกันเงินกู้ได้เท่านั้น

 

ภาพประกอบข่าว การออมรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ตัวเงิน ผ่านวิธีการปลูกไม้มีค่า และ วิธีการเลี้ยงสัตว์

 

การออมรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ 

การออมทรัพย์ในรูปแบบของการเลี้ยงสัตว์ ทั้ง การเลี้ยงโค ควาย หมู ไก่ และปลา ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ถือ เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรและประชาชนในชนบทที่เปรียบเสมือนการเก็บออมทรัพย์ของชาวบ้าน โดยรูปแบบการเลี้ยงสัตว์เป็นลักษณะของการปล่อยให้สัตว์หากินตามธรรมชาติ หรือให้อาหารจากสิ่งที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน 

โดยการออมแบบปศุสัตว์ เช่น โค กระบือ ที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป ถือเป็นอายุที่สามารถขายได้ประมาณ 25,000 - 50,000 บาทต่อตัว ขึ้นอยู่กับขนาดตัวและราคาตลาดในแต่ละปี ส่วนต้นทุนการเลี้ยงโคกระบือไม่สูงมาก สามารถปล่อยให้หากินตามธรรมชาติได้ 

นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์อื่น ทั้งช่วยในการเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูก ช่วยกำจัดวัชพืช ใช้มูลเป็นปุ๋ย หรือเก็บมูลไปขาย เปรียบเสมือนได้ดอกเบี้ยจากการออมเงินอีกด้วย ขณะที่การเลี้ยงสุกร ซึ่งถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมเช่นกัน เนื่องจากเนื้อสุกรเป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหาร 

อีกทั้งเป็นส่วนประกอบสำคัญของประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งต้นทุนการเลี้ยง ค่อนข้างต่ำ โดยใช้รำข้าว ปลายข้าว และเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน และเมื่อสุกรเติบโตจนอายุ ประมาณ 1 ปี ก็โตพอที่จะขายส่งตลาดได้ ในราคาตัวละ 8,000 - 9,000 บาท 

โดยหากรวมมูลค่าของปศุสัตว์ไว้เป็น เงินออมของครัวเรือน เฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2564 พบว่า มูลค่าการออมของครัวเรือนเหล่านี้เพิ่มขึ้นจาก 38,097 บาทต่อครัวเรือน เป็น 49,865 บาทต่อครัวเรือน 

อย่างไรก็ตามการเลี้ยงสัตว์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการออมยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ส่วนใหญ่จะเน้นเพื่อการขายและการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก ขณะเดียวกัน การเลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรม และโรคในสัตว์ชนิดนั้น ๆ ซึ่งอาจขาดทุนในกรณีที่เกิดโรคระบาด

 

ภาพประกอบข่าว การออมรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ตัวเงิน ผ่านวิธีการปลูกไม้มีค่า และ วิธีการเลี้ยงสัตว์

 

ประโยชน์ของการปลูกไม้มีค่า - เลี้ยงสัตว์

จะเห็นได้ว่า การออมที่ไม่ใช้ตัวเงินทั้ง การปลูกไม้มีค่า และการเลี้ยงสัตว์ เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยภาคเกษตรกรรมที่มีความพร้อมในด้านพื้นที่ และมีประสบการณ์ในการทำการเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งมีต้นทุนต่ำ และสามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมทั้งเป็นหลักประกันทางด้านรายได้ให้กับครอบครัว 

อีกทั้งหากมีความชัดเจนในการตลาดคาร์บอนเครดิตยังเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเครดิตได้อีกด้วย จากประโยชน์หลายประการข้างต้นชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของการออมในรูปแบบนี้ควรได้รับการส่งเสริม และขยายผลให้มากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ และส่งเสริมการดำเนินการดังกล่าว โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของคนในชุมชน 

รวมทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธนาคาร และองค์กรพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และให้คำปรึกษากับเกษตรกรในพื้นที่ เช่นเดียวกับปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องและไม่เป็นอุปสรรคต่อการออมรูปแบบนี้ด้วย