แจกเงินชดเชยว่างงาน 2,000 บาท ไม่มีจริง เช็ควิธีขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง

16 มิ.ย. 2566 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2566 | 09:29 น.

รัฐบาลเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อ SMS หลอกรับเงินชดเชยระหว่างว่างงาน 2,000 บาท ยันไม่มีจริง เช็ควิธีการรับเงินชดเชยผู้ว่างงาน การขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ ที่ถูกต้อง รวมไว้ที่นี่

จากการณีที่มีรายงานว่าประชาชนจำนวนมากได้รับข้อความทาง SMS จากมิจฉาชีพที่แอบอ้างชื่อกรมการจัดหางานส่งข้อความ รับเงินชดเชยระหว่างว่างงาน 2,000 บาท พร้อมแนบลิงก์ให้กดเข้าไป หากหลงเชื่อจะถูกสอบถามข้อมูลรายละเอียดส่วนตัวนั้น 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายการส่ง SMS แจ้งรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน จึงขอแจ้งเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อการส่งข้อความลักษณะนี้ และอย่ากดเข้าลิงก์ที่แนบมาด้วย เพราะจะมีความเสี่ยงถูกมิจฉาชีพหลอกขโมยข้อมูลส่วนตัว

ทั้งนี้ การจัดหางาน แจ้งว่า ขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากได้รับข้อความทาง SMS จากมิจฉาชีพ ซึ่งแอบอ้างชื่อกรมการจัดหางานส่งข้อความว่า “คุณได้รับเงินชดเชยระหว่างว่างงาน ตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 2,000 บาท เป็นรายชื่อตกหล่น ให้ยืนยันสิทธิ์ย้อนหลัง” พร้อมแนบลิงก์ให้กดเข้าไป

หากหลงเชื่อเข้าไปสอบถามรายละเอียดจะถูกขอข้อมูลส่วนตัว ทั้ง ชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งกรมการจัดหางานยืนยันขัดเจนว่าไม่มีนโยบายส่ง SMS เพื่อแจ้งให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงานติดต่อเพื่อขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานผ่านช่องทางไลน์ 

ดังนั้น หากประชาชนได้รับ SMS ที่น่าสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

วิธีการขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ถูกเลิกจ้าง ลาออกจากงาน หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง สามารถรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้ โดยผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานทาง e-service ของกรมการจัดหางานที่เว็บไซต์ กรมการจัดหางาน (คลิก) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง 

โดยจะต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านเว็บไซต์เดียวกันไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง พร้อมย้ำให้ผู้ประกันตนฯ ยื่นเรื่องขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานผ่านทางเว็บไซต์ของกรมการจัดหางานเท่านั้น

หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ 

หลักเกณฑ์ที่จะทำให้มีสิทธิ คือ เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีว่างงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย

 

ภาพประกอบข่าว การว่างงาน และ วิธีการรับเงินชดเชยผู้ว่างงาน การขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ ที่ถูกต้อง

เงินประกันสังคมว่างงานได้เท่าไหร่

1.กรณีถูกเลิกจ้าง 

ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท

2.กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา 

ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

ทั้งนี้เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)

สำหรับประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 1 ปี เว้นแต่ กรณีว่างงานผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ต้องยื่นสิทธิภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

หมายเหตุ : ในกรณียื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน

 

ภาพประกอบข่าว การว่างงาน และ วิธีการรับเงินชดเชยผู้ว่างงาน การขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ ที่ถูกต้อง

 

ขั้นตอนและวิธีการขอรับประโยชน์ทดแทน

ต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักจัดหางาน กรมการจัดหางาน พร้อมกรอกแบบฟอร์มใบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน พร้อมด้วยหลักฐาน คือ บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)

จากนั้นกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พร้อมด้วยหลักฐาน คือ หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการออกจากงาน (สปส 6-09) หรือ หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างที่ให้ออกจากงาน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชี

จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานทำการสัมภาษณ์/ตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติการทำงาน และเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานทำการเลือกตำแหน่งงานว่างให้เลือก 3 แห่ง ให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงานได้พิจารณา 

หากยังไม่มีงานที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานจะประสานงานส่งฝึกอบรมแรงงานตามความจำเป็น แต่หากผู้ประกันตนกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการ หรือปฏิเสธงานหรือปฏิเสธการฝึกงานที่จัดหาให้และไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด สำนักงานประกันสังคมจะงดจ่ายประโยชน์ทดแทนทันที

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกสถานะผู้ประกันตนกรณีว่างงานเข้าสู่ฐานข้อมูลกลาง และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมดึงข้อมูลผู้ประกันตนกรณีว่างงานขึ้นมาวินิจฉัยตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ เมื่อคุณสมบัติครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมทำการโอนเงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิให้ผู้ประกันตน ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน เดือนละ 1 ครั้ง

หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง